กางแผน ‘ทีมไทยแลนด์’ เยือน สปป.ลาว เชื่อมรถไฟ 3 ประเทศ

กางแผน ‘ทีมไทยแลนด์’ เยือน สปป.ลาว เชื่อมรถไฟ 3 ประเทศ

“คมนาคม” เตรียมนำทัพทีมไทยแลนด์เยี่ยม สปป.ลาว 30 ก.ย. – 1 ต.ค.นี้ ถกความร่วมมือรถไฟไทย ลาว และจีน พร้อมกางแผนขยายความร่วมมือ 5 ประเทศ ดันไฮสปีดเทรนสายใต้เชื่อมมาเลเซีย – สิงคโปร์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยระบุว่า ล่าสุดมีการประชุมระหว่างรัฐบาลภายใต้การบูรณาการแต่ละหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมนำ "ทีมไทยแลนด์" ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย.นี้

โดยการเดินทางไปเยือน สปป.ลาวครั้งนี้ จะมีการหารือถึงความร่วมมือเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทร์ และโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว และจีน อีกทั้งเพื่อศึกษาสภาพและศักยภาพของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางของโครงการช่วงหนองคาย - เวียงจันทร์ เพื่อนำมาประเมินอุปทานด้านการคมนาคม และจัดทำแผนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมแผนเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟในครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยที่ประชุมได้เตรียมแผนการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ดังนี้

1. กระทรวงคมนาคม

กรมทางหลวงจะเร่งรัดการของบประมาณเพื่อศึกษาแนวทางการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทั้งในรูปแบบสะพานรถไฟและรถยนต์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคายให้แล้วเสร็จตามแผนของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และเร่งรัดการพัฒนาสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วน  

นอกจากนี้ให้เร่งดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) สถานีนาทา เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต พร้อมจัดทำ Action Plan เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการ และปริมาณความจุที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาอัตราค่าขนส่ง และต้นทุนด้านเวลา เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้ระบบรางเป็นทางเลือกหลักในการขนส่งระหว่างไทย ลาว และจีน

2. กระทรวงการคลัง

กรมศุลกากรจะเร่งรัดการจัดหา Mobile X-ray System เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านพรมแดนหนองคายในอนาคต และการดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคายสามารถปฏิบัติพิธีการนำเข้า ส่งออกและผ่านแดนได้ทุกมิติของการขนส่งสินค้า

3. กระทรวงการต่างประเทศ

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาในฝั่งลาว เพื่อแลกเปลี่ยนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ใช้ประกอบการวางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายไทย สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เต็มประสิทธิภาพ และหยิบยกการหารือระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาวและจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลักดันการเชื่อมต่อรถไฟลาว – จีน กับระบบรางของไทย

4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เร่งรัดการเจรจาร่วมกับฝ่ายจีน เพื่อเปิดด่านทางบกภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ ให้ครบทั้ง 6 ด่านใหม่

5. กระทรวงพาณิชย์

ติดตามสถานการณ์การค้าไทย – จีน ด้านจังหวัดหนองคาย และการใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว – จีน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย รวมถึงการเจรจาร่วมกับฝ่ายลาว ในการอำนวยความสะดวกสินค้าไทยที่ใช้บริการรถไฟลาว-จีน

6. กระทรวงอุตสาหกรรม

เร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจากลาวและจีน

7. กระทรวงสาธารณสุข

อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสัมภาระที่ติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายต่อไป

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในเส้นทางสายใต้ เพราะจะเป็นโครงข่ายที่เพิ่มศักยภาพให้กับระบบรางระหว่างประเทศ สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายทางรางร่วมกับ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยกระทรวงฯ เล็งเห็นว่าหากมีการผลักดันโครงข่ายทางรางในเส้นทางนี้ได้ จะทำให้การขนส่งและการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียมีความแข็งแกร่งมากขึ้น