ส่องสุขภาพ "เศรษฐกิจจีน" เมื่อ "เดอะแบก" แห่งเอเชีย ก็ยังเหนื่อย!
ชวนเช็คสุขภาพ "เศรษฐกิจจีน" ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นำโดย "สหรัฐ" ที่เข้าสู่ภาวะ "ถดถอยทางเทคนิค" ขณะที่หลายประเทศพากันขึ้นดอกเบี้ยสกัดตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งทะยาน สปอตไลต์ต่างจับจ้องมาที่ "จีน" ในฐานะ "เดอะแบก" ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก
หลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/65 ของหลายประเทศ ในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา ได้ส่อแววชัดเจนถึงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก อาทิ ตัวเลขจีดีพีรายไตรมาส 2/65 ของสหรัฐที่ติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรก ซึ่งนับเป็นตัวเลขบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ยังคงทุบสถิติในรอบ 40 ปีอีกครั้ง ด้วยตัวเลข 9.1% จึงมีการคาดกันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก
ในทางเดียวกัน เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ที่พุ่งขึ้น 8.6% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ 0.5%
นอกจากนี้ ก็มีอีกหลายประเทศที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ด้วยเหตุผลในการเร่งสกัดภัยเงินเฟ้อ อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
ตัดภาพมาที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่าง “จีน” พบว่า กลับไม่ประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ นำมาสู่ความคาดหวังที่นักวิเคราะห์แทบทุกสำนักต่างหวังจะให้ “เศรษฐกิจจีน” เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่ปรากฏ กลับให้สัญญาณที่ตรงกันข้ามกับที่หลายฝ่ายคาดหวัง
เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน
แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเช่นหลายประเทศดังที่กล่าวไป แต่การล็อกดาวน์ที่ยังเข้มงวด ภายใต้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Dynamic COVID-Zero Policy) ประกอบกับวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลายฝ่ายต่างให้ความกังวล
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้เปิดเผย อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ที่ไต่ระดับขึ้น 2.5% ซึ่งตัวเลขระดับนี้นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสหรัฐและอียูที่พุ่งขึ้น 9.1% และ 8.6% ตามลำดับ ทำให้จีนไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลให้ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้
ถึงกระนั้น การดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ กลับทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างไม่เต็มที่ โดยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของจีนอยู่ที่เพียง 0.4% ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 5.5% ที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้ อีกทั้งยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1% เสียอีก
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอตัวลงดังข้างต้น เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ มีการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญอย่าง เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักนานถึง 2 เดือน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จำกัดผลกระทบแค่ในประเทศจีน แต่ยังส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนอุปทานในหลายพื้นที่ของโลก นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักให้ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งในสหรัฐและอียู
นอกจากนั้น โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ยังได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีน ปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.5%
จับตา! “วิกฤติอสังหาฯ” ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก
อีกปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวลงไปอีกหรือถึงขั้นหดตัว คือ “วิกฤติอสังหาฯ” ที่สร้างปัญหามาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และส่อแววจะเพิ่มระดับความร้ายแรงของวิกฤติขึ้นไปอีกในปีนี้ โดยนักวิเคราะให้ความกังวลในกรณีนี้เป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลสะเทือนแก่เศรษฐกิจโลกได้
- ย้อนรอยจุดเริ่มต้นวิกฤติอสังหาฯ
ในปี 2564 รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการควบคุมการก่อหนี้ของภาคอสังหาฯ อย่าง นโยบายสามเส้นแดง (Three Red Lines) ที่มีการระบุข้อบังคับให้บริษัทมีโครงสร้างหนี้สินอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งต้องเร่งขายสินทรัพย์ในราคาต่ำกว่าตลาด หรือหยุดการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการ เพื่อรักษาเงินสดไว้ดำรงสภาพคล่องตามเกณฑ์ของทางการ ส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้ของบริษัทเหล่านี้
วิกฤติอสังหาฯ จึงได้เริ่มต้นขึ้นจากวิกฤติหนี้ของ “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อันดับ 2 ของจีนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการควบคุมระดับหนี้ เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินรวมทั้งหมดราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 2% ของขนาดเศรษฐกิจจีน และยังมีหนี้ระยะสั้นด้วยสัดส่วน 42% ของหนี้สินรวม ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในภาคอสังหาฯ อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯ มีการเติบโตอย่างชะลอตัว จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 เป็นผลให้รายได้บริษัทอสังหาฯ รวมถึงเอเวอร์แกรนด์ย่ำแย่ลง
รายได้ที่ลดลงจากทั้งวิกฤติโควิด-19 และการหยุดดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการ มีผลให้เอเวอร์แกรนด์ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนเกิดการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาทิ ฟิทซ์ เรทติ้ง (Fitch Rating), สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (S&P) และหน่วยงานจัดอันดับของจีน ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอเวอร์แกรนด์ลง ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมให้มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงไปอีก
ถึงกระนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกคาดการณ์ว่า เป็นสถานการณ์ที่ยังสามารถควบคุมได้ และจะไม่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเงิน เนื่องจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ ของจีนมีความเข้มงวดอยู่แล้ว และการกู้ยืมของเอเวอร์แกรนด์ผ่านธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนเพียง 0.22% ของเงินกู้ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จีน อีกทั้งสถาบันการเงินจีนแข็งแกร่ง จากกระบวนการลดภาระหนี้สินในระบบ (Deleverage) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
- วิกฤติเสี่ยงลุกลาม ผู้ซื้อบ้าน-ซัพพลายเออร์บริษัทอสังหาฯ ปฏิเสธจ่ายหนี้
อย่างไรก็ตาม วิกฤติกลับเสี่ยงลุกลามขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยผลจากการระงับการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการนั้น มีผลให้ประชาชนไม่ต่ำกว่าล้านคนต้องแบกภาระหนี้ไปกับบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้ในปลายเดือนมิ.ย. มีการออกมาประท้วงไม่จ่ายหนี้สำหรับผ่อนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ส่งผลกระทบต่อโครงการอสังหาฯ อย่างน้อย 301 โครงการ จาก 91 เมืองทั่วประเทศ
ต่อมา ฝั่งซัพพลายเออร์ของบริษัทอสังหาฯ ก็ออกมาปฏิเสธจ่ายหนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการค้างจ่ายหนี้ของบริษัทอสังหาฯ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ซ้ำเติมให้วิกฤติภาคอสังหาฯ เลวร้ายลงไปอีก โดย GF Securities คาดว่า มีสินเชื่อมูลค่าราว 2.97 แสนล้านดอลลาร์ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจไม่จ่ายคืนหนี้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลจีนจึงได้ปรับนโยบาย เปิดไฟเขียวให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาฯ ได้เพิ่มขึ้น เพื่อเอื้อให้โครงการอสังหาฯ ในพื้นที่ต่างๆ ถูกดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมถึงกำลังพิจารณายืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับผู้ซื้อบ้าน ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 5 ปี จาก 4.6% ลงมาที่ 4.45% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562
อย่างไรก็ตาม กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ว่า
“ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานาน กว่าจะแก้หนี้เสียที่มีได้ จีนยังไม่เคยเจอปัญหาวิกฤติลักษณะนี้ ทำให้มีการลงทุนที่ขยายไปมาก เมื่อเจอปัญหาอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัว
โดยก่อนหน้านี้หลายประเทศใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา โดยสหรัฐฯเคยเจอปัญหาต้องใช้เวลา 5 ปี ยุโรปใช้เวลา 10 ปี และไทยใช้เวลา 5 ปี กว่าจะพ้นวิกฤติได้ คาดว่าจีนเองก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการสะสางปัญหานี้เช่นกัน”
ทั้งหมดข้างต้นเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาคอสังหาฯ ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของจีน ฉะนั้น การตั้งความหวังไว้ที่เศรษฐกิจจีนอาจต้องเริ่มจาก การให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมวิกฤติอสังหาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิเช่นนั้น อาจกลายเป็นแรงกระทืบซ้ำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับการถดถอยที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
-----------------------------------------------
อ้างอิง
ข่าวหุ้นธุรกิจ , ลงทุนศาสตร์ , สกุลชัย เก่งอนันตานนท์ , สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย (1) / (2) , อาร์ม ตั้งนิรันดร , SCB Economic Intelligence Center , The Standard Wealth