ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “เอเปคท่องเที่ยว 2565” วันที่ 14-20 ส.ค.
“พิพัฒน์” เผย 14-20 ส.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค แบบออนไซต์ครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด ประกาศให้โลกรู้ว่าไทย “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” หวังเร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติไฮซีซั่นปลายปีนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2565 ณ กรุงเทพฯ ในรูปแบบ “Low Carbon” ภายใต้แนวคิด Regenerative Tourism : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่จาก 21 เขตเศรษฐกิจกว่า 300 คน และนับเป็นการประชุมออนไซต์ครั้งแรกหลังเกิดการระบาดของโควิด-19
“จังหวะของการจัดประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะประกาศให้ทั่วโลกได้รู้ว่าไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ชาวต่างชาติที่ทราบข่าวจะได้จองเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ได้พอดี ขอความร่วมมือคนไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดี โดยเฉพาะพนักงานโรงแรม ร้านอาหารยังใส่หน้ากากอนามัย แม้ชาวต่างชาติจะไม่ใส่ก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยไม่แพร่เชื้อ และขอให้คงความเป็นยิ้มสยามของคนไทยผ่านหน้ากากอนามัยเพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาเกิดความประทับใจ”
สำหรับแนวคิด Regenerative Tourism : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน เป็นแนวคิดที่เน้นการจัดการการท่องเที่ยวแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชุมชน ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การปรับสมดุลจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รู้จักรักและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำเอาแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม ดิจิทัล เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การท่องเที่ยวนำไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วนในทุกมิติ
ในการประชุมครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ประเทศไทยจะผลักดันให้เกิดขึ้น ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเสนอแนวคิดคือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในการฟื้นการท่องเที่ยวจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ให้คืนกลับมา และบรรลุเป้าหมายของการท่องเที่ยวที่นำทรัพยากรมาใช้แล้วช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิม สังคม วัฒนธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณค่ามากขึ้น เศรษฐกิจที่เน้นให้คนท้องถิ่นมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องเชื่อมโยงกับ หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ของไทยคือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
นอกจากการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคและคณะทำงานยังมีกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “Co–Creating Regenerative Tourism” กิจกรรมทัศนศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวตลาดน้อย ย่านเจริญกรุง และ สามพรานโมเดล จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชน และสามารถเชื่อมโยงไปสู่แนวคิดหลักของการประชุม