“ปตท.”มุ่งพลังงานสีเขียว “WTO”ชี้หมดยุค“บราว เอ็นเนอยี”
เส้นแบ่งโลกเก่าและโลกใหม่ ในยุคนี้มีเงื่อนไขที่ต่างไปจากยุคก่อน อย่างเรื่องพลังงานขอยกรายงานกำแพงมาตรการทางการค้าโลกปี 2565 : หัวข้อพิเศษว่าด้วยกำแพงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่อผลิตภัณฑ์พลังงานสีเขียวและสีน้ำตาล
[World Tariff Profiles 2022 :SPECIAL TOPICS Non-tariff measures on “green” and “brown” energy products] จัดทำโดย องค์การการค้าโลก (WTO)สาระส่วนหนึ่งระบุว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลหรือพลังงานสีน้ำตาลสู่พลังงานสีเขียวด้วยการมุ่งไปสู่พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเหตุผลที่พลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากหลายด้าน ทั้ง ราคาน้ำมัน,ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน มีราคาสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป้าหมายข้อที่ 7 ว่าด้วยการยกระดับความร่วมมือระดับนานาชาติจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ให้ขยายตัว จากจุดมุ่งหมายและความพยายามในระดับโลกไม่เพียงการนำไปสู่ความร่วมมือเท่านั้นแต่อีกด้านรายงาน WTO ก็ชี้ให้เห็นว่าหากภาคธุรกิจไม่มีการปรับตัวก็ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าหรือNTMที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานที่พลังงานสีเขียวจะถูกใช้มาตรการ NTM น้อยกว่ากลุ่มพลังงานสีน้ำตาล เพื่อให้ธุรกิจของไทยมีทิศทางสอดรับกับเทรนด์โลก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)มีแผนการปรับองค์กรที่น่าสนใจ
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท PTT International Holdings Limited (PTTIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ดำเนินการขายหุ้นในบริษัท PTT Mining Limited (PTTML) ซึ่ง PTTIH ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ให้กับบริษัท PT Astrindo Nusantara Infrastruktur Tbk หรือบริษัทในเครือของ Astrindo ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นด้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของอินโดนีเซีย และเป็นบริษัทที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแบบบูรณาการ ได้แก่ สินทรัพย์ในรูปแบบของท่าเทียบเรือบรรทุกขนถ่ายถ่านหิน เครื่องบดถ่านหิน และสายพานลำเลียงบนบก
การลงนามสัญญาดังกล่าว เป็นไปตามกลยุทธ์ของ ปตท. เพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนและมุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาด ตลอดจนเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond”
โดยปตท. ได้มีการจัดตั้ง G-Net (PTT Group Net Zero Task Force) เพื่อบรรลุเป้าหมาย ปตท. จึงได้ใช้กลยุทธ์ “3P” สู่ความสำเร็จ ได้แก่
1. Pursuit of Lower Emissions สิ่งที่จะทำปีแรก คือ ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และสร้างธุรกิจที่ช่วยพาไปสู่เป้าหมายโดยเร็ว
2. Portfolio Transformation สิ่งที่ปตท.ตั้งมั่นไว้เสมอมา คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ และเมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป ปตท. ก็พร้อมที่จะขยับตัว ปรับพอร์ตธุรกิจ เพื่อลดฟอสซิลลง และจะงดการทำธุรกิจถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2565 และจไม่ขยายโรงกลั่นน้ำมัน แต่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตน้ำมันสู่มาตรฐานยูโร
ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด และเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยตั้งในปี 2573 จะมีพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตกว่า 12,000 เมกะวัตต์
3. Partnership with Nature and Society ปตท. ไม่สามารถดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือที่ดีจากหลายๆ ภาคส่วน หลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี และปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 1.7 ล้านตันต่อปี
แม้เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่หากเริ่มต้นทำอย่างจริงจังและมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อย่างปตท.ออกแรงขับเคลื่อนเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเพื่อเป้าหมายลดโลกร้อนแล้ว ความท้าทายใหญ่อาจเป็นแค่เงื่อนไขใหม่ที่รอแค่การก้าวผ่านเท่านั้น