หอการค้าไทยจับมือ มูลนิธิสโกลารส์ฯส่งมอบอาหารส่วนเกินให้ผู้ขาดแคลน
หอการค้าไทย ชูความร่วมมือการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหาร สู่ผู้ขาดแคลนอาหาร เผยอาหารขยะส่วนเกินในไทยมีกว่า 17 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 64% ของขยะในประเทศ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือกับนายเจมส์ เลย์สัน กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ในการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร” ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์
ปัจจุบันประเทศไทย มีอาหารขยะหรืออาหารส่วนเกินปริมาณสูงถึง 17 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 64% ของขยะในประเทศไทยและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ และเครือข่ายพันธมิตร ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจอาหารไม่ให้กลายเป็นขยะอาหาร
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้ขับเคลื่อนแนวคิด BCG Model จึงให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการขยะอาหาร คือ การควบคุมการผลิตและการกำจัดขยะอาหาร และการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนได้บริหารจัดการขยะอาหารของตนให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างแนวทางใหม่ผ่านการบริจาคอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยในการบริโภคเพื่อส่งต่อให้กับผู้ขาดแคลนอาหารในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปพร้อมกับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการอาหารอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการอาหารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน
“การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญใน การเสริมสร้าง ความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการจัดการอย่างยั่งยืน ภายใต้อาหารแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ปริมาณอาหารขยะโลกทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 940 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 8-10 %จากขยะอาหาร ขณะอาหารขยะของไทยเฉลี่ยปีละ254 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้งเท่านั้นบางส่วนยังเป็นแค่อาหารส่วนเกิน คือ ทิ้งเพราะกินไม่ทัน ขายไม่ทัน หรือคิดว่าหมดอายุ ทั้งที่จริงๆแล้วยังสามารถรับประทานได้ ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญในการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เช่น ฝรั่งเศศ สภาพยุโรปมีกฎหมายบังคับใช้เรื่องขยะอาหาร สหรัฐมีนโยบายแรงจูงใจด้านภาษี เป็นต้น
สำหรับแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของภาคการผลิตของไทย ได้วางแผนการผลิต การจัดการกระบวนการผลิต การบริหารจัดการสต๊อกและการเก็บรักษา รวมการบริจาคการ ที่สำคัญการสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร และการเก็บอาหาร การนำอาหารมาใช้อย่างคุ้มค่า และเมื่ออาหารเหลือเป็นขยะต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี มองหาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่