ชง “ศบค.” ไฟเขียว ขยายเวลาพำนักวีซ่าทัวริสต์-วีซ่าหน้าด่าน สูงสุด 45 วัน
“ททท.” จ่อชง “ศบค.” 19 ส.ค.นี้ พิจารณาขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่านักท่องเที่ยวและวีซ่าหน้าด่าน (VoA) เป็นสูงสุดไม่เกิน 45 วัน ให้มีผลตั้งแต่วันอนุมัติจนถึงสิ้นปี 65 หนุนต่างชาติเที่ยวไทยใช้จ่ายมากขึ้น
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 19 ส.ค.นี้ พิจารณาขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่านักท่องเที่ยว (Tourist Visa) จากระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน เป็นสูงสุดไม่เกิน 45 วัน และขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival : VoA) เพิ่มจากปกติสามารถท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน เป็นสูงสุดไม่เกิน 45 วันเช่นกัน ให้มีผลตั้งแต่วันอนุมัติจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 ตามข้อเสนอของภาคเอกชนท่องเที่ยว
“เรื่องการขยายระยะเวลาพำนัก เราเคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง (Ease of Traveling) ช่วยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นการกลับมาของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมานานกว่า 2 ปี”
โดย ททท.ดูข้อมูลผู้ยื่นขอวีซ่าตามสถานทูตไทยในต่างประเทศ พบว่าต้องการอยู่ท่องเที่ยวในประเทศไทยเกิน 30 วัน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มพฤติกรรมการเดินทาง นักท่องเที่ยวนิยมอยู่นานมากขึ้น จึงคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่เที่ยวในประเทศไทยนานขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5 วัน ใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 4,000-5,000 บาทต่อคน
++ "ยกเว้นค่าวีซ่า" รอหารือระดับนโยบาย
ส่วนข้อเสนอจากภาคเอกชนท่องเที่ยวเรื่องขอให้รัฐบาลพิจารณา “ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า” หลังได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางนายกฯกล่าวไว้ว่า จริงๆ ยังมีความเห็นที่ต้องไปหารือกันในวงกว้างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
“การขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่านักท่องเที่ยวและวีซ่าหน้าด่าน ถือเป็นเรื่องที่ทำได้เร็วกว่า ทาง ททท.จึงเดินหน้าเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.พิจารณาในวันที่ 19 ส.ค.นี้ไปก่อน เพราะตอนนี้อะไรที่ทำได้ ให้ทำไปก่อน เพราะต้องประกาศล่วงหน้าเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ส่วนเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ต้องหารือกันเพิ่มเติมในระดับนโยบายอีกที”
++ หนุน "โซนนิ่ง" ขยายเวลาเศรษฐกิจกลางคืน
จากที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า จะเสนอให้ที่ประชุม ศบค.อีกนัดหมายในเดือน ก.ย.นี้ พิจารณาขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงเฉพาะบางพื้นที่ (โซนนิ่ง) ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ พัทยา กระบี่ ภูเก็ต หัวหิน สมุย และเชียงใหม่ ไปจนถึงเวลา 04.00 น. ขอให้มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น)
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิงก็ต้องว่าตามกฎหมาย โดยตามที่นายพิพัฒน์ให้สัมภาษณ์นั้น เป็นเรื่องของการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะบางประเทศกว่าจะเริ่มทานมื้อค่ำก็ประมาณ 3-4 ทุ่ม ทานเสร็จก็ประมาณเที่ยงคืน จากนั้นก็อยากจะไปต่อ โดยขอเน้นย้ำว่าเราไม่ได้ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มองว่าเป็นเรื่องการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หากมีระยะเวลาการใช้จ่ายนานขึ้น ก็จะทำให้ช่วยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลต่อเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
“นี่เป็นเรื่องเดิมก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนายพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯเคยลงพื้นที่ถนนวอล์คกิ้งสตรีท พัทยา ได้รับการสนับสนุนแนวคิดนี้จากผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเรื่องนี้อาจจะต้องมีการทำระบบโซนนิ่งเพื่อควบคุมด้วย และมาดูว่าเมื่อมีการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนแล้ว จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศมากน้อยขนาดไหน”