มายาคติ ที่ต้องโยนทิ้งหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 28 มีนาคม

มายาคติ ที่ต้องโยนทิ้งหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 28 มีนาคม

นับตั้งแต่สยามประเทศกำเนิดขึ้นมา เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ร้ายแรงที่สุด แม้ความสูญเสียอาจจะดูน้อยกว่าวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกปี 2505 หรือสึนามิปี 2547

 แต่ก็สร้างความตกใจหวาดหวั่นขวัญแขวนให้แก่ผู้คนในพื้นที่เป็นวงกว้างมากกว่า  

มีเรื่องต้องคิดนอกเหนือจากเรื่องการเตรียมรับมือภัยธรรมชาติเพียว ๆ และอาจเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการของรัฐ  การก่อสร้างภาคเอกชน และความตระหนักสำนึกของประชาชนไปไม่น้อย  

 ก่อนหน้านี้ มี มายาคติหลายเรื่องที่นำไปสู่ความไม่พร้อมของไทยต่อเหตุประเภทนี้  แต่วันนี้ก็ได้เวลาแล้วที่ต้องเลิกคิดแบบนั้น

ข้อแรก คือ ความเชื่อที่ว่าประเทศไทยตั้งอยู่บนภูมิศาสตร์ที่ปลอดภัยกว่าประเทศอื่น ๆ บนโลกนี้ อยู่อย่างมีความสุขในอุณหภูมิไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป  โอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่น้อยมาก

พายุใหญ่ทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรล้วนห่างไกลจากเรา  ไทยไม่อยู่ในวงแหวนแห่งไฟไม่กังวลเรื่องภูเขาไฟปะทุ  ต่างจากประเทศรอบบ้านทั้งพม่า เวียดนามหรืออินโดนีเซียที่ล้วนประสบภัยบ่อยกว่าเรามาก 

คนไทยจึงไม่เคยคิดเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวกันเลย   แต่ความคิดแบบนี้อาจล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน  ภาวะโลกร้อนเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ในชั้นบรรยากาศ แต่ไปจนถึงการก่อตัวของโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงในทะเล และอาจจะในรอยเลื่อนใต้พิภพด้วย 

คนไทยต้องไม่ละเลยความปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหวอีกต่อไป  เหมือนกับที่ชักจะไม่คิดแล้วว่าพื้นที่ของตนจะรอดจากน้ำท่วม หลังจากที่หลายพื้นที่เจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนักทีไม่เคยปรากฏมาก่อน

เราต้องยอมรับแล้วว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว  และเราต้องเรียนรู้การรับมือต่อโอกาส

แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น เช่น การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญเหตุ  การเลือกซื้อเลือกสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รับมือกับแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติที่หลากหลายได้  

และต้องช่วยกันกดดันด้วยกระแสสังคม ให้รัฐออกมาตรการกฎหมายต่าง ๆ มาเพื่อให้การรองรับเหตุเหล่านี้สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ   

มายาคติต่อไปที่ควรทิ้งไปคือ ความร่วมมือหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลบางประเทศเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ  ยอมปล่อยให้ธุรกิจของประเทศนั้นได้งานก่อสร้างของรัฐหรือเอกชนไปเพียงเพราะว่าราคาถูกกว่าชาติอื่น ๆ หรือแม้แต่ของไทย

ทั้งนี้ เพราะธุรกิจข้ามชาติบนความส่งเสริมของรัฐบาลชาตินั้น ๆ บางทีก็ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือคุณภาพเท่าที่ควร  สนใจแต่จะได้กำไรสูงสุดบนต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยอ้างว่าเทคโนโลยีของตนดีไม่แพ้บริษัทอื่น ๆ

การดำเนินการบางอย่างโดยไร้ธรรมาภิบาลเพื่อให้ได้งาน  ไม่ว่าจะเป็นการดั๊มราคาทำลายโอกาสคู่แข่งขัน  ติดสินบนใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้มีอำนาจอนุมัติให้ล็อคสเปก  ใช้สื่อและผู้มีชื่อเสียงประโคมโหมความสามารถของสินค้าตนเกินจริง

นั้นเป็นสิ่งที่ธุรกิจของชาตินั้นเคยทำมาแล้วในต่างแดน หากสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศของเราก็จะก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวแก่ประเทศชาติ

    ไม่เพียงแต่ผู้จ่ายเงินจะได้แค่ของคุณภาพต่ำ ต้องซ่อมบำรุงกันอย่างเรื้อรังไม่รู้จบแล้ว  เศรษฐกิจในประเทศก็จะย่ำแย่ไปด้วย

เพราะธุรกิจท้องถิ่นไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาตินี้ได้  การปล่อยให้ธุรกิจต่างชาติครองตลาดขนเงินกลับประเทศเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาติดิ่งจมต่อไป

เราจะต้องมีการสอบสวนกรณีอาคารที่ถล่มอย่างจริงจัง โปร่งใส ไม่ให้ฝ่ายใดซุกซ่อนเอกสารหรือช่วยเหลือกดดันผู้ตรวจสอบได้ ถ้าจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่สามเข้ามาตรวจสอบก็จะดีมาก 

เพราะเรื่องนี้สะเทือนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐไทยและประเทศเจ้าของธุรกิจก่อสร้างมาก  ต้องตรวจสอบอาคารอื่นที่มีธุรกิจของบางประเทศเข้ามาก่อสร้างด้วย  ยกเลิกสเปคเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานสากล

อย่าให้ไทยเป็นหนูลองยาให้ใคร ขึ้นแบล็คลิสต์บริษัทของประเทศนั้นทั้งกลุ่ม  และที่สำคัญคือ สินค้า Made In ของประเทศนี้ต้องได้รับการทบทวนทุกอย่าง  เลิกซะทีการซื้อง่าย ๆ โดยอ้างว่าของดีเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่า

มายาคติที่อาจจะยกเลิกยากที่สุดแต่ต้องทำคือ การยอมรับว่าเรื่องนี้คงเอาผิดคนระดับสูงไม่ได้ เพราะคนที่ต้องรับผิดชอบนั้นน่าจะมีจำนวนไม่น้อย  

ตั้งเต่กรณีตึกถล่ม ต้องมีผู้รับผิดถึงขั้นติดคุกเพราะหลักฐานเชิงประจักษ์นั้นมีอยู่ ยิ่งถ้าสอบพบเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นนั้นยิ่งหนัก  ขณะที่เรื่องของการเตือนภัยหลังเกิดเหตุไปแล้วที่ล่าช้าก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ 

และที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างวัฒนธรรมละอายใจให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริหารระดับสูง  ไม่ใช่ลอยตัวว่าฉันไม่ใช่คนจงใจทำผิด ฉันก็ลอยหน้าอยู่ในตำแหน่งต่อไป 

เหตุการณ์ที่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของตนจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว   ผู้บริหารระดับสูงของรัฐและองค์กรเขาลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกันทั้งนั้น

  ไม่ใช่ให้มาตั้งคำถามว่าจะออกไปเพื่ออะไร  การบกพร่องจนปล่อยให้เกิดเหตุร้ายต่อมหาชนในการกำกับดูแลของตนเกิดขึ้นนั้นถึงแม้จะนับเป็นอาชญากรรมไม่ได้  แต่โทษทางสังคมต้องมี.