นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.“ขึ้นดอกเบี้ย”0.25% จับตาก.ย.ขยับ 0.50%

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.“ขึ้นดอกเบี้ย”0.25% จับตาก.ย.ขยับ 0.50%

"กอบศักดิ์"BBL มองเป็นระดับที่เหมาะสมกนง.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก0.25% ‘สมประวิณ’EIC ชี้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร็วแรง ‘พิพัฒน์’KKP ชี้โอกาสขึ้นดอกเบี้ย0.25%มีสูง ‘อมรเทพ’CIMBT ฟันธงกนง.เสียงแตกขึ้นดอกเบี้ย ‘นริศ’TTB แนะจับตาก.ย.กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรง0.50%

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.“ขึ้นดอกเบี้ย”0.25% จับตาก.ย.ขยับ 0.50%         การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ (10 ส.ค. 65) ถือเป็นวันชี้ชะตา ทิศทาง “อัตราดอกเบี้ยไทย” ว่าจะปรับทิศทาง ไปสู่ “ดอกเบี้ยขาขึ้น”หรือไม่ 

ดอกเบี้ยเริ่มใกล้ช่วงต้มยำกุ้ง

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ( BBL) กล่าวว่า เชื่อว่าระดับเหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย ภายใต้เงินเฟ้อที่ลดแรงกดดันลดลง และมีความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยของโลก การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ครั้งนี้ และ ขึ้น 0.25% ใน 2ครั้งที่เหลือเป็นระดับที่เหมาะสม 

     ทั้งนี้การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50% รอบนี้ก็สามารถเป็นไปได้ เพื่อเร่งเครื่องดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติเร็วขึ้น ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% ในสิ้นปีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นดอกเบี้ยมาใกล้เคียงระดับปกติ

      ซึ่งถือว่าระดับดังกล่าว เป็นระดับต่ำสุดในช่วงต้มยำกุ้ง แต่หากจะเห็นดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติ หรือ Neutral Zone คือ 2.50% ซึ่งก็ต้องมาดูว่าปีหน้าจะไปสู่จุดดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้การประเมินทิศทางเงินเฟ้อว่าจะลดลงได้หรือไม่

ไม่จำเป็นขึ้นดอกเบี้ยแรง

      นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมกนง.วันนี้คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% จากการเปิดประเทศ ที่หนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะข้างหน้าอาจเพิ่มขึ้นได้

      โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ยังมีรายได้ต่ำ กว่าระดับก่อนโควิด-19

      สะท้อนกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง   หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คาดว่าจะรองดูทิศทาง ก่อนจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในรอบต่อไป

      “เรามองว่าหลังจากนี้จะเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งใน 2 ประชุมที่เหลือ เพราะความเสี่ยงเริ่มมีชัดเจนขึ้น ดังนั้นกนง.อาจรอผลของการขึ้นดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจไปต่อ ก็ขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่หากแย่ก็ต้องลงดอกเบี้ยอีก ดังนั้นแล้วการค่อยๆขึ้นจะดีกว่าขึ้นเร็วเกินไปเพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก”

จุดเริ่มต้นดอกเบี้ยไทยสู่ภาวะปกติ

      นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าขยับช้ากว่าประเทศอื่น ในขณะที่ไทยเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูง ดังนั้นประเมินว่าการประชุมกนง.รอบนี้อาจขึ้นดอกเบี้ย

      แต่มองว่าการประชุมครั้งนี้อาจเสียงแตก เพราะ อาจมีทั้งคณะกรรมการที่มองว่าขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% และบางคนอาจมองว่าควรขึ้น 0.50% เพราะการประชุมกนง.อีกรอบห่างกันค่อนข้างนาน

      ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่กนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% แม้กรณีฐานที่ KKP มองว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เพราะปัจจุบันแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง  และค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น

        แต่วันนี้ยังมีแรงกดดันใหญ่ๆ 2 ด้าน คือการจ้างงานสหรัฐที่ออกมาดี ทำให้จากเดิมคนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น และอาจเห็นสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยต่อไปใกล้ 4% เหล่านี้เป็นแรงกดดันต่อเนื่อง ต่อทิศทางของดอกเบี้ยโลก

      ดังนั้นมองว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับดอกเบี้ยไปสู่ภาวะปกติมากขึ้น

      “ช่วงที่เหลือปีนี้มองว่าแบงก์ชาติยังขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งละ 0.25% และเห็นทิศทางดอกเบี้ยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และวันนี้เชื่อว่าแบงก์ชาติกำลังสู้กับตัวเอง ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทนต่อแรงกดดันเงินเฟ้อได้หรือไม่ สิ่งที่แบงก์ชาติกลัวคือกระทบต่อคนกู้ภายใต้หนี้ครัวเรือนสูง และอาจมีการขอความร่วมมือแบงก์ไม่ให้ปรับดอกเบี้ยมากนักด้วย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้”

         อย่างไรก็ตาม แม้ ทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปลดลง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปัจจุบันอยู่ใกล้ขอบบนที่ 3% ใกล้กับกรอบเงินเฟ้อ ที่ 1-3% ดังนั้นแม้ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 1% ก็ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่มาก

กนง.เสียงแตก4ต่อ3เสียง

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า  คาดการประชุมกนง.ครั้งนี้จะเสียงแตกในการขึ้นดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 เสียง

       โดยคาดขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ที่ 4 เสียงและ 0.50% ที่ 3 เสียง ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ เป็นโจทย์ยากสำหรับกนง.

       อย่างไรก็ตาม CIMBT มองว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยยังโตแบบไม่กระจายตัว การท่องเที่ยว ส่งออกขยายตัวได้ดี แต่ภาคเกษตรยังอ่อนแอ และเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นหากเทียบกับระดับก่อนโควิด แต่สัญญาณของราคาน้ำมันที่ลดลง สะท้อนว่าเงินเฟ้อระยะข้างหน้าอาจไม่ไหลแรงมากนัก ดังนั้นความจำเป็นในการใช้ยาแรงอาจลดลง

       แต่จุดสำคัญ คือการประชุมกนง.ในเดือนก.ย. หากสภาพคล่องในระบบสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง อาจมีความจำเป็นที่กนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อสกัดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งเงินเฟ้อสูงยังคงมีอยู่ต่อเนื่องถึงปีหน้า ดังนั้นยังต้องระวัง

       ดังนั้นมองว่ากนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.50% ในรอบนี้ได้ ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากยังคงมีอยู่

 ขึ้นดบ.0.25%ส่งผ่านดอกเบี้ยได้ราบรื่น

      นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพราะแบงก์ชาติมีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งจำเป็นต้องรอดูการส่งผ่านนโยบายการเงิน ของธนาคารพาณิชย์ด้วย เพราะหากขึ้นแรง ก็คงมีผลกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์

      ดังนั้นมองว่าระดับที่ 0.25% เป็นระดับที่จะช่วยให้แบงก์สามารถส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยได้ราบรื่นมากกว่า

       อีกทั้งปัจจุบันแรงกดดันค่าเงินบาทลดลง อีกทั้งเงินเฟ้อเดือนส.ค.ก็น่าจะลดลงหากเทียบกับก.ค.และมิ.ย.เพราะราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นองค์ประกอบทุกอย่างทำให้กนง.ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย

       ทั้งนี้ประเมินว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย ทั้ง3ครั้งในการประชุมครึ่งปีหลังนี้ ที่ 0.25% ทำให้กลางปีดอกเบี้ยจะไปใกล้ 2% ดังนั้นมองว่าการประชุม 6 ครั้งถึงกลางปีหน้า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยทุกรอบการประชุมที่ 0.25%

ลุ้นก.ย.กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรง

       นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี  กล่าวว่า ประเมินกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และโอกาสเห็นกนง.ขึ้นดอกเบี้ยก.ย. ที่ 0.50% ได้

       เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส2ออกมาดี เศรษฐกิจปรับตัวดีต่อเนื่อง และแนวโน้มนักท่องเที่ยวปีนี้สู่ระดับ 8ล้านคน อาจทำให้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยได้แรงขึ้นได้ แต่กรณีพื้นฐานยังประเมินดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 1.25%

      “การขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เพื่อรอดูตลาด เพราะวันนี้สิ่งที่ห่วงคือภาระหนี้ครัวเรือน ตรงนี้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นต้องถ่วงน้ำหนักพอสมควร”