ภาคประชาชนเดินหน้า ‘ต้าน’ ทรู-ดีแทค!!
กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ยื่นหนังสือเอกอัครราชทูตประจำสถานทูตนอร์เวย์ คัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC
เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค ปาณิสรา ตุงคะสามน ระบุ กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และสภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นคัดค้านการควบรวมครั้งนี้เนื่องจากมีความกังวลในข้อเสนอควบรวมกิจการ ทรู และ DTAC ซึ่งดีแทคเป็นบริษัทสื่อสารสัญชาตินอร์เวย์ ในประเด็นข้อเสนอในการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทฯ ขัดต่อพ.ร.บ.โทรคมนาคม มาตรา 21 ซึ่งการควบรวมกิจการจะทำให้เหลือผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมหลักน้อยลง เพียงสองรายเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ และการกำหนดราคา โดยที่ประชาชนไม่มีทางเลือก รวมถึงกังวลเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่อาจถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20%) TRUE อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34%) และAIS อยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย (46%)
จะเห็นได้ว่าหากการควบรวมเกิดขึ้น จะทำให้มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียงสองราย และจะทำให้บริษัทที่ควบรวมแล้ว มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้สามารถชี้นำตลาดได้ ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ
ขณะที่แหล่งข่าวจาก กสทช. ระบุว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (10 ส.ค.) ยังไม่มีการนำวาระการพิจารณาลงมติเรื่องการควบรวมของทรู-ดีแทค เข้าที่ประชุม เนื่องจากการประชุมบอร์ด กสทช.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค. คณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 5 ราย เห็นว่าผลการศึกษา ที่สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือ โฟกัสกรุ๊ป โดยคณะอนุกรรมการ 4 คณะที่ตั้งขึ้น รวมถึงผลศึกษาจากจุฬาฯ และเอกชนยังไม่ครบถ้วน จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. รวมข้อมูลมาเสนอให้บอร์ด กสทช. เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ข้อมูลดังกล่าวยังรวบรวมไม่แล้วเ