“อาคม”หวังแบงก์พาณิชย์ตรึงดอกเบี้ยหลังกนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
“อาคม” หวังพาณิชย์ตรึงดอกเบี้ยนโยบายกรณี กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ ส่วนแบงก์รัฐนั้น คลังได้ประสานให้ตรึงดอกเบี้ยนานที่สุด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ (10 ส.ค.)ว่า หวังว่าธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าจะต้องพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็ว อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ,ในส่วนของธนาคารของรัฐนั้น เป็นนโยบายที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ
“ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ก็ขอให้ช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน ไม่ใช่ปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะยังมีเวลาปรับตัว 3-6 เดือน แต่โดยปกติแล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก”
เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว เพราะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ตอนนี้ เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น นโยบายการเงินการคลังก็จะต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน
“ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลก็ต้องเยียวยาประชาชน ส่วนแบงก์ชาติเองก็ได้ออกนโยบายซอฟท์โลนเข้าไปช่วยภาคธุรกิจ ฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยก็ไม่เพิ่ม แต่เมื่อโควิดคลี่คลาย ธุรกิจเริ่มเดินได้ ภาคการเงินการคลังต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน โดยการหารายได้ของภาครัฐ และส่งเสริมการส่งออก ส่วนภาคการเงินนั้น นโยบายดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ”
เมื่อถามว่า ขณะนี้ ถือว่า เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วใช่หรือไม่ เขากล่าวว่า ในเรื่องของรายได้นั้น ต้องยอมรับว่า ยังไม่เต็มร้อย หรือใกล้ร้อยแล้ว เพราะที่ผ่านมา โควิด ทำให้บางธุรกิจปิดตัว รายได้จึงยังไม่กลับมาเต็มที่ บางธุรกิจกลับมาได้ 70-80% แต่บางอุตสาหกรรมกลับมามีกำลังการผลิตเต็มแล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคธุรกิจโรงแรมนั้น ยังไม่เต็มร้อย เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ซึ่งปีนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะกลับมาได้จำนวนเท่าไร ซึ่งขึ้นอยู่กับต่างประเทศด้วย
ด้านภาคการส่งออกนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ ภาคธุรกิจนี้ ยังประสบปัญหาด้านซัพพลายเชนขาดแคลน ทำให้การส่งออกทั้งปีไม่สูงเท่าปีก่อน แต่เวลาเดียวกัน ทั่วโลกก็เจอปัญหาเงินเฟ้อ และการขาดแคลนอาหาร ก็ถือเป็นโอกาสของเราที่จะส่งออกได้
อย่างไรก็ดี ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ไทยเองได้หันมาพึ่งพาประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้น ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ ก็มีส่วนสนับสนุน
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ก็เป็นจังหวะในการปรับขึ้น แต่ก็ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมด้วย เพราะผลกระทบอาจมีต่อเงินเฟ้อ และกำลังซื้อที่ลดลง ขณะเดียวกัน เมื่อปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แรงงานจะต้องปรับประสิทธิภาพแรงงานด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์