นักเศรษฐศาสตร์ ชี้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย แรงส่งไม่ถึงแบงก์ หวั่นต้องอัดยาแรง

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย แรงส่งไม่ถึงแบงก์ หวั่นต้องอัดยาแรง

‘อมรเทพ’CIMBT ชี้ ดอกเบี้ย ส่งผ่านตลาดเงิน-แบงก์น้อย หวั่นแบงก์ชาติต้องขึ้นยาแรงรอบถัดไป ‘พิพัฒน์’KKP ชี้ความเสี่ยงใหญ่กดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า0.25% หากเงินเฟ้อพุ่ง เงินบาทอ่อนค่าแรง ‘ทิม’สแตนชาร์ด แนะจับตากนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงก.ย.

      หลังผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ออกมาเป็นที่ชัดเจน โดยมีมติขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25 % ถึง 6 เสียง และ 1 เสียงโหวตขึ้นดอกเบี้ย 0.50 % เพราะมองว่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงในระยะข้างหน้าได้

      โดยรวมผลประชุมกนง.ออกมาเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด ที่คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25 % ครั้งแรก แบบค่อยเป็นค่อยไป และติดตามสถานการณ์ ดูการส่งผ่าน และพัฒนาการเงินเฟ้อ ก่อนจะมีการปรับขึ้นครั้งถัดไปในอีก 2 ครั้งที่เหลือปีนี้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2561 
 

     “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)เชื่อว่า ผลการประชุมกนง.ที่ออกมา ถือว่าไม่ต่างกับที่คาดไว้  จาก“เงินเฟ้อ”สูง และยังสร้างปัญหาในระยะข้างหน้า ดังนั้นการ “ขึ้นดอกเบี้ย”ก็เพื่อลดการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้ไปไกล

       แต่ระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเสี่ยง แม้ฟื้นตัวได้ดีจากภาคท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา แต่การกระจายตัวยังไม่เกิด ดังนั้นสิ่งที่ห่วง คือกำลังซื้อระดับล่าง ภาคเกษตร เอสเอ็มอีที่ยังอ่อนแอ การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

      ที่เดายากคือการประชุมรอบหน้าก.ย.ที่จะเป็นตัวชี้ชะตา “ทิศทางดอกเบี้ย”ว่าจะเป็นอย่างไร เอาเงินเฟ้ออยู่หรือไม่ จะเปิดโอกาสให้ขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ 0.50 % มากน้อยขนาดไหน เพราะแม้เงินเฟ้อจะมีโอกาสลดลงจากราคาพลังงานที่ดลง แต่อย่าลืมว่า การส่งผ่านเงินเฟ้อไปสู่ ราคาผู้บริโภคจะมีมากขึ้น!

      เพราะวันนี้เห็นดีมานด์ฝั่งอุปสงค์มากขึ้น บวกกับแรงกดดันที่จะมาจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้การส่งผ่านด้านราคาไปสู่ผู้บริโภคมีสูงขึ้น

     และที่ห่วงจริงๆ คือ แรงกดดันที่ทำให้แบงก์พาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยได้น้อย แม้จะเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยเหลือทุกกลุ่มไม่ให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น แต่ต้องระวังด้วย เพราะการปิดกั้นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงแบบนี้ จะไม่ทำให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง

      สุดท้าย กงล้อ อาจกลับมาที่กนง. ให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้การส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น ดังนั้นกงล้ออาจย้อนกลับไปที่กนง.ต้องอัดยาแรงรอบหน้ามากขึ้น ภายใต้เงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง

    “รอบหน้าเราไม่ได้ปิดกั้นโอกาสที่คาดว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50 % อาจต้องเตรียมใจไว้ และต้องดูสถานการณ์เงินเฟ้อ การฟื้นตัวเศรษฐกิจกันต่อ เพราะแม้จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปถึง 0.50 % ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน”

      “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการประชุมกนง.ถือเป็นไปตามคาด สะท้อนว่าแบงก์ชาติกังวล การขึ้นดอกเบี้ยมาก อาจกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ กระทบทำให้เกิดหนี้เสียครัวเรือนและในระบบที่เพิ่มขึ้น

     ที่น่าสนใจ และกลับไปตั้งคำถามคือ คนจะคิดว่าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทำไม? แต่ไม่สามารถส่งผ่านดอกเบี้ยได้ เหมือนแบงก์ชาติพยายามแยกตลาด แยกส่วนการส่งผ่านของดอกเบี้ย หลักๆก็เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

      แต่ไม่อยากให้ส่งผ่านไปสู่แบงก์ ดังนั้นมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.รอบนี้ แบงก์อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 0.25 % หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำ และไปขึ้นรอบหน้ามากกว่า

     หากมองไปในระยะข้างหน้า มองว่าแบงก์ชาติจะยังขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% เรื่อยๆ ยกเว้นเงินเฟ้อขึ้นแรง เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมาก สองแรงกดดันนี้อาจกดดันแบงก์ชาติให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงได้ และอย่างน้อย จะเห็นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 2 % ได้ ในไตรมาส 1 ปี 2566

     “ดูแบบนี้เหมือนแบงก์ชาติคิดว่า แบงก์ชาติสามารถแยกตลาดได้ การขอให้แบงก์พาณิชย์ช่วย โดยไม่ขึ้นดอกเบี้ยทันที ขณะที่ดอกเบี้ยในตลาด ต้นทุนทางการเงินต่างๆปรับขึ้น NIMของแบงก์ในระยะข้างหน้าอาจลดลงได้”

    “ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ผลการประชุมกนง.ออกมา ถือว่ามีโทนเดียวกับตลาดที่มอง

    แต่สิ่งที่ตลาดจับตา คือการประชุม 28 ก.ย. 2565  แม้กรณีพื้นฐานจะมองว่าแบงก์ชาติมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25 % แต่ก็มีความเสี่ยง ที่ 28 ก.ย.นี้ แบงก์ชาติอาจขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50 % ได้

   เพราะอย่าลืมว่า การประชุมครั้งถัดไป อยุ่ระหว่างการประชุมของเฟด ที่คาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50-0.75 % ดังนั้นเราอาจเจอแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้

    ภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง การท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภคเอกชน ที่ยังเติบโตดี บวกกับเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมาดีเกินคาด โดยคาดว่า จะออกมาขยายตัว 3.3 % ดีกว่าไตรมาสแรกที่ 2.2 %  ดังนั้นเหล่านี้คือความเสี่ยง ว่าทำไม การขี้นดอกเบี้ยที่ 0.50 % ถึงมีความเป็นไปได้

     “หากดูประชุมครั้งถัดไป 28 ก.ย.จากโทนแบงก์ชาติคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% และยังขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เราก็ยังตามดู เพราะก็มีความเสี่ยงที่จะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50%ได้ เพราะอย่าลืมว่าระหว่าง2เดือนนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอาจ 0.50-0.75%ที่เป็นแรงกดดันสำคัญ ตอนนั้นค่อยมาดูว่า เศรษฐกิจที่ออกมาตรองแค่ไหน"