‘สภาพัฒน์’ เปิด 3 scenarios ผลกระทบเศรษฐกิจไทย จาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 1 สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำมาตรการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องพิจารณาทั้งต่ออายุลดภาษีดีเซล ช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซด์ตรึงค่าเอฟที สศช.เสนอ 3 ฉากทัศน์เศรษฐกิจจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน
วันนี้ (11 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันแถลงข่าว
นายกฤษฎากล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานกรณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อทบทวนมาตรการที่จะหมดอายุในเดือน ส.ค. – ก.ย.นี้
โดยมาตรการที่จะมีการพิจารณาเช่น การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันลดการจัดเก็บภาษีฯอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร การตรึงราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในเดือน ก.ย. - ธ.ค. มาตรการช่วยเหลือรถจักรยานยนต์รับจ้างเดือนละ 250 บาทต่อเดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่มีโอกาสกลายเป็นวิกฤต พร้อมทั้งมีแผนรองรับสถานการณ์ ใน 4 ด้าน 1.วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMES และ 4.วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางที่ควรจะดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาวให้ที่ประชุมรับทราบ
นายวิชญายุทธ กล่าวว่า สศช.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งได้รายงานฉากทัศน์ (Scenarios) 3 กรณีที่เกิดจากขึ้นจากความขัดแย้งของสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ
ในกรณีที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีฐานที่ในปัจจุบันเราเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรณีนี้ คือสงครามทางทหารระหว่างรัสเซีย ยูเครนยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังคงระดับเดิมหรือเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างช้าๆ โดยต่างฝ่ายต่างระมัดระวังผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร (Sanction) และมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ การทรงตัวหรือการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของมาตรการ Sanction ในลักษณะดังกล่าวจะทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกสามารถปรับตัวได้ทัน เช่นการลดการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย แต่รัสเซียสามารถที่จะเปลี่ยนไปเป็นการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยไม่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
ในกรณีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะค่อยๆ ลดลงในช่วงที่เหลือของปี ตามการปรับตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่สามารถ reallocate ได้ดี รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความวิตกกังวลต่อภาวะความถดถอยของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่วนราคา LNG ยังคงอยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเริ่มปรับคัวลดลงในปี 2566 ตามอุปทานที่น่าจะสามารถ reallocate ได้มากขึ้นตามลำดับรวมทั้งการสิ้นสุดลงของฤดูหนาวและเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น
ในด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร) ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดจนถึงสิ้นปีเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและสร้างความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะยาว
ในภาพนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานต่างประเทศในปัจจุบัน `และชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปี 2566 ตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินและวัฎจักรของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ โดยอาจมีเศรษฐกิจหลักบางประเทศปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กๆ แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี `2565 – 2566 ไม่ถึงขั้นติดลบ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังปี 2566
เศรษฐกิจไทย ในภาพนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้สอดคล้องกับการประมาณการของหน่ายงานหลักด้านเศรษฐกิจ (สศช ธปท. สศค.) เงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอย่างช้าๆ ในปี 2566 โดย สศช.คาดว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวได้ในช่วง 2.5 – 3.5% ค่ากลางที่ 3%
ในกรณีที่สอง เป็น Low case scenario สงครามทางทหารยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมาตรการตอบโต้ขยายขอบเขตเพิ่มเติมจนทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบและสินค้าสำคัญอื่นๆ ในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
ในกรณีนี้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลกจะค่อยๆ กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าในกรณีแรก ก่อนที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้าตามการเพิ่มขึ้นของสัญญาณความเสี่ยงต่อ Recession
ในภาพนี้เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่ากรณีแรก (ขึ้นอยู่กับสินค้าและมาตรการที่นำมาตอบโต้กัน) ในกรณีนี้เศรษฐกิจยูโซโซน สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มีความเสี่ยงและสัญญาณการเข้าสู่ Recession มากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 2566 ปรับตัวลดลงมากกว่ากรณีแรก
ในกรณีนี้เศรษฐกิจไทย ปี 2565 และ 2566 ขยายตัวต่ำกว่ากรณีแรก อัตราเงินเฟ้อปี 2565 สูงกว่ากรณีแรกเล็กน้อย ก่อนที่จะลดลงมากหรือมีเงินเฟ้อติดลบในปี 2566 ในขณะที่ดุลเดินสะพัดกลับมาเกินดุลมากกว่าในกรณีแรก
กรณีที่ 3 เป็น Worst case scenario ซึ่งยังมีความเป็นไปได้น้อยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความชัดเจนมากขึ้น โดยในกรณีนี้ เป็นกรณีที่ความขัดแย้งขยายขอบเขต เริ่มมีการแบ่งขั้วอำนาจออกจากกันและแต่ละขั้วร่วมมือกันอย่างชัดเจนมากขึ้นระหว่างขั้วที่มีสหรัฐและพันธมิตรเป็นแกนนำ และระหว่างขั้วอำนาจที่มีรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ ในกรณีนี้ ปัญหาจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะแรก และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับ recession เป็นระยะๆ ตามความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วเศรษฐกิจหลักและการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ในกรณีนี้ ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการขาดแคลนพลังงานและอาหาร รวมทั้งสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลกอย่างชัดเจน เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในระยะสั้นจะหดตัวชัดเจนและรุนแรง และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เป็นระยะๆ ตลอดหลายปีข้างหน้า ตามความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วเศรษฐกิจหลักและการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะยาว ในขณะที่ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวลดลงหรือเข้าสู่ stagflation คล้ายๆ กับในช่วงปี 1970 – 1980
สำหรับในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงและมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกสูง (การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ห่วงโซ่การผลิต ตลาดทุน การพึ่งพิงพลังงาน) อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องและการขาดดุลการคลังกว้างขึ้นและทำให้แรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลแฝดรุนแรงมากขึ้น
ด้านนายพรชัย กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่
(1) มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การตรึงราคาก๊าซ NGV การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนการออกมาตรการรักษากำลังซื้อให้แก่ประชาชนต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
(2) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.
(3) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs อาทิ จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) และ
(4) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การลงทุนในโครงสร้างภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมแนวเหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออก เป็นต้น