กยท.หวั่นปัจจัยภายนอกถ่วง แม้ราคายางยังขาขึ้น

กยท.หวั่นปัจจัยภายนอกถ่วง แม้ราคายางยังขาขึ้น

กยท. ชี้สถานการณ์ยางครึ่งปีหลัง ยังคงอยู่ในระดับที่ดีปกติ ปัจจัยหนุนมาจากยางล้อและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศหลังโควิดคลี่คลาย แต่สงคราม ความขัดแย้ง ต้องมั่นวิเคราะห์แนวโน้มช่วงสั้นๆ พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพาราในครึ่งปีหลัง 65   ยังคงเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งในปีนี้อาจเกิดปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น เรื่องสงคราม หรือปัญหาขัดแย้งต่างๆ ดังนั้นจากนี้การสื่อสารเรื่องสถานการณ์ราคายางจะเป็นไปในแบบระยะสั้น ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

 

กยท.หวั่นปัจจัยภายนอกถ่วง แม้ราคายางยังขาขึ้น กยท.หวั่นปัจจัยภายนอกถ่วง แม้ราคายางยังขาขึ้น

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของกยท. ด้านปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค ราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อและความรุนแรง ของมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซีย ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง แต่ความต้องการใช้ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น จากความกังวลปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงจาต้นทุน พลังงานและโภคภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้น

 อีกทั้งภาวะขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทั่วโลกยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้ โดยสงครามในยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อซัพพลายชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากมาตรการ Zero covid ล่าสุดพบการติดเชื้อแบบกลุ่มที่เซินเจินและมาเก๊า

ทั้งหมดส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ภาครัฐลดการอุดหนุนและการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ ทำให้เกิดการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงิน เฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามราคายางปัจจัยสนับสนุนเดือนสิงหาคม 2565 ไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นอีก จึงคาดว่าราคายาง ยังคงเคลื่อนตัวออกด้านข้างหรือ Sideway down โดยมีโอกาสเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง มีโอกาสปรับตัวลดลงเพื่อทดสอบแนวรับ หาก ไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ จะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อไปที่จุดสูงสุดเก่าได้ ราคาในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบแนวโน้มขาขึ้น

               

        นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฏ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง   กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราโลกขณะนี้ World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศ ค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และ สหภาพยุโรป(อียู) อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการ Zero Covid ของจีน และความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน และสหรัฐ

ในขณะที่ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก ANRPC วิเคราะห์ว่าในปี 2565 ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 15.204 ล้านตัน และคาดว่าการดำเนินนโยบายลดภาษีรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 %

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า และในช่วงของเดือนสิงหาคม - กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ และคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน

 

สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาสที่ 1 สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น  31% และในส่วนของแนวโน้มยางพาราจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้ายยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่ขยายตัวมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ราคายางก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการ ต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมี โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง