เช็กเลย 2 โครงการ รักษาเสถียรภาพยาง กยท.มั่นใจยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต

เช็กเลย 2 โครงการ รักษาเสถียรภาพยาง กยท.มั่นใจยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต

สถานการณ์ยางในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แม้จะแกว่งตัวตามกลไกตลาด แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ กยท. เผยเดินหน้าขับเคลื่อน 2 โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง มั่นใจปัจจัยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในอนาคต หนุน ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2565 ว่า จะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ราคายังเป็นไปตามกลไกทางการตลาดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ  ทั้งนี้ต้องการยอมรับว่า ปัจจัยภายนอกประเทศ  โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งระหว่างไต้หวัน จีน และสหรัฐ มีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางมากที่สุดมีการชะลอลง  ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้การใช้ถุงมือยางลดลง แต่ในขณะเดียวกัน หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีการคลายล็อก ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยว ภาคการขนส่ง มีการขยายตัว ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น หนังยางชนิดต่างๆ เป็นต้น  ในชีวิตประจำวันมีความต้องการใช่้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ แม้จะมีการแกว่งตัวบ้างก็ตาม แต่ก็ช่วงแคบๆ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพ กยท. ยังคงดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางต่อเนื่อง 2 โครงการคือ  โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง  โดย กยท.จำดำเนินการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางยางพารา เพื่อไม่ให้ราคาเกิดการผันผวนมากเกินไป เป็นไปตามกลไกการตลาด   และโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง  เพื่อชะลอปริมาณลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดในช่วงนี้  รวมทั้งเพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างการอขายผลผลิต  ทั้งนี้ กยท.มั่นใจว่า  จากสถานการณ์ยางในปัจจุบันและการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว จะทำให้ยางมีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นการยกระดับราคาซื้อขายยางในตลาด รวมทั้งทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นไปตามกลไกตลาดอีกด้วย

“แม้ขณะนี้ราคายางจะทรงตัว แต่ยางพารายังพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ   และหากพิจารณาจากความต้องการใช้ยางกับปริมาณผลผลิตแล้ว จะเห็นได้ผลผลิตในตลาดโลกยังมีน้อยกว่าความต้องการถึง 604,000 ตัน  ซึ่งANRPC วิเคราะห์ว่า   ในปี 2565  ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 15.204 ล้านตัน  

นอกจากนี้จากการดำเนินนโยบายลดภาษีรถใหม่ของจีน คาดว่าจะทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% ประกอบกับ ความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้การผลิตรถ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% อีกด้วย ขณะนี้เดียวกับธนาคารโลกได้ประกาศค่า PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ของประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ในเดือนกรกฎาคม2565 ที่ผ่านมาหลายประเทศยังอยู่เหนือระดับ 50 หรือใกล้เคียง ทั้งนี้หากมีค่าPMI มากกว่า 50 หมายถึงเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากระดับปัจจุบัน  โดยประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 52.20  ประเทศญี่ปุ่น 52.10  ยุโรป อยู่ที่ 49.80 และประเทศจีนอยู่  49.00 ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวจึงการคาดการณ์ราคายางในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว

 

 สำหรับผลผลิตยางในประเทศไทยนั้น ปริมาณผลผลิตยางในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเล็กน้อย   โดยผลผลิตในเดืิอนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 451,955 ตัน ในขณะที่เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 455,932 ตัน อย่างไรก็ตามสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางทั้งปีลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยมีผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน และคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน 

ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะทุเรียน  มากขึ้น ประกอบกับฝนตกหนักในช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้  อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำป่าไหลหลกาท่วมสวนยาง  โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและตะวันออก พร้อมทั้งให้ระวังตรวจสอบการระบาดโรคใบร่วงชนิดใหม่ที่มักจะมาพร้อมกับความชื่นอีกด้วย