กรมการค้าภายในจับมือ บก.ปคบ.ลุยจับโกงตาชั่งหมู
กรมการค้าภายในจับมือ บก.ปคบ. ตั้งชุดเฉพาะกิจออกตรวจจับผู้ฉ้อโกงรับซื้อสุกรจากเกษตรกร หลังพบพฤติกรรมแสบ โกงตาชั่งทุกรูปแบบ ทั้งหนุน เหนี่ยว ใช้กรงเบา ล่าสุดจับไปแล้ว 15 ราย ศาลลงโทษจำคุก 1 ราย อีก 9 ราย ปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกรอลงอาญา
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการแก้ไขการโกงน้ำหนักเครื่องชั่งในการรับซื้อสุกร ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ว่า กรมฯ และบก.ปคบ. ได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดในการรับซื้อสุกรจากเกษตรกร รวมทั้งได้ร่วมมือกับกรมการปกครองช่วยดูแลในพื้นที่ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และที่เกี่ยวข้อง ช่วยสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแสเข้ามา เพื่อดำเนินการกับผู้ที่เอาเปรียบเกษตรกร โดยเกษตรกรหรือผู้ที่พบเห็นการเอาเปรียบสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135
สำหรับพฤติกรรมการเอาเปรียบ จะใช้กลโกงต่าง ๆ เช่น หนุนตาชั่ง เหนี่ยวตาชั่ง ทำให้การชั่งน้ำหนักคลาดแคลน หรือใช้กรงเบามาใส่หมูแล้วชั่ง แต่ก่อนจะชั่ง นำกรงหนัก มาชั่งให้เกษตรกรดูก่อน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ชั่งจริงใช้กรงเบา ซึ่งการโกงทุกรูปแบบ ทำให้น้ำหนักขาดไป 20-30 กก. บางครั้งเกษตรกรเสียหายรายละ 30,000-40,000 บาท
ดยผลการลงพื้นที่ตรวจสอบและจับกุม สามารถจับกุมผู้ที่ฉ้อโกงเกษตรกรได้แล้ว 15 ราย แจ้งความดำเนินคดีและส่งศาลพิจารณาพิพากษาไปแล้ว 2 คดี ลงโทษจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 1 ราย อีก 9 ราย จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี
ทั้งนี้ โทษการทำให้เครื่องชั่งแสดงค่าน้ำหนักเอาเปรียบประชาชนและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบทางการค้า เป็นความผิดตามมาตรา 75 และมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 280,000 บาท และจำคุก 3 ปี และปรับ 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รองผบก.ปคบ. กล่าวว่า จากการดำเนินการจับกุม พบพฤติกรรมของผู้ฉ้อโกง คือ จะใช้วิธีการแบ่งงานกันทำ โดยลงพื้นที่สำรวจก่อนล่วงหน้า ดูกิจวัตรประจำวันของเกษตรกรว่าแต่ละวันทำอะไร ออกจากบ้านเมื่อไร ไปทำงานกันช่วงไหน แล้วจะเข้าไปเสนอราคารับซื้อสูงกว่าปกติ เช่น กิโลกรัมละ 5-10 บาท พอตกลงซื้อขาย ก็นัดเวลา แต่พอถึงเวลานัด ก็ไม่ไปตามนัด เช่น นัดเช้า ไปบ่ายแทน เพราะรู้ว่ามีคนอยู่บ้านน้อย เหลือแต่ผู้สูงอายุ หรือมีคนน้อย ก็จะเข้าไปซื้อ และใช้วิธีโกงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดจับไปแล้วที่จ.อุดรธานีและนครพนม และกำลังวางแผนจับกุมที่อื่นอีก