อาหารไทย Soft Power สตรีทฟู้ด ผสานศิลปะวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์
การผลิตซ้ำ เพื่อสร้าง อาหารไทย กลาย Soft Power สตรีทฟู้ด ผสานศิลปะวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
อาหารไทย หนึ่งใน Soft Power ของไทย เป็นที่ยอมรับถูกจัดอันดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง และ ร้านอาหารไทย ก็เช่นกัน น่าสนใจว่าการสร้าง เชฟคนไทย ให้โลกได้รู้จักมากขึ้น เป็นความท้าทายอยู่เหมือนกัน
กรณี สุภิญญา จันสุตะ หรือ เจ๊ไฝ สุดยอดเชฟสตรีทฟู้ดชื่อดัง ไปโชว์การทำอาหาร ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กลายเป็นกระแสในไทย
แน่นอนว่า ที่มาที่ไปเรื่องนี้ คือ โปรเจค Thai Art Initiative สนับสนุนจากมูลนิธิเชฟแคร์ส เสนอถึงวัฒนธรรมไทยผ่านศิลปะของการทำอาหารไทย หวังผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย ล่าสุดได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอความร่วมมือทางศิลปะของ 2 ศิลปินหญิงชาวไทย คือศิลปะอาหารไทย อย่าง เจ๊ไฝ และ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินศิลปะร่วมสมัยหญิงรุ่นใหม่
มาริษา เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิเชฟแคร์ส (CHEF CARES) และผู้ก่อตั้ง Thai Art Initiative มองว่า การผลักดันและสนับสนุน Soft Power ไทย โดยเฉพาะในด้านศิลปะและอาหาร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่สากล โดย Thai Art Initiative(ThAI) ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยอยู่บนแผนที่ภูมิศาสตร์การเมืองของศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นอย่างมากทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ในขณะที่ด้านการท่องเที่ยวก็ติดอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุน Soft Power ของไทยให้ก้าวไกลระดับโลกได้ เราเห็นถึงความโดดเด่นนี้และพยายามสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ ด้วยการยกระดับ soft power ไทยสู่เวทีโลก โดยมุ่งเน้นการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะ อาหารไทย และศิลปะร่วมสมัย
ผู้ก่อตั้ง Thai Art Initiative ชี้ความร่วมมือทางศิลปะที่นำมาแสดงในงานสัปดาห์ศิลปะพิพิธภัณฑ์ Museo Novecento ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี นับเป็นภารกิจแรกของ Thai Art Initiative (ThAI) โดยนำเสนอสองสาวไทยที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุด คือเจ๊ไฝ- สุภิญญา จันสุตะ ราชินีแห่งอาหารข้างทาง วัย 74 ปี สุดยอดเชฟสตรีทฟู้ดชื่อดัง ซึ่งนำเมนูไข่เจียวเนื้อปูอันโด่งดังมาให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติ เจ๊ไฝได้ทุ่มเทกว่าครึ่งชีวิตเพื่อสร้างศิลปะผ่านอาหารที่สมบูรณ์แบบ และนี่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของศิลปะการทำอาหารไทย โดยการแสดงของเจ๊ไฝ มาพร้อมกับผลงานของกวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยนิทรรศการศิลปะหัวข้อ Body, Labour, Consumption ซึ่งนำเสนอผ่านวิดีโอที่คัดสรรจากซีรี่ส์ Performing Textiles และ Field Work ที่กล่าวถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นและแรงงานเพศหญิง โดยหวังว่าความร่วมมือทางศิลปะของศิลปินหญิงชาวไทยทั้งสองในวันนี้ และผลงานที่จะเกิดขึ้นจาก Thai Art Initiative ต่อจากนี้ จะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณทางศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอย้ำว่า อาหารไทย คือหนึ่งใน 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทย หวังสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
แน่นอนว่า โอกาสของ "อาหารไทย" และ "เชฟไทย" บนเวทีโลก เป็นเรื่องที่ท้าทาย และหากสนับสนุนอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นพลังสำคัญของในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย.
...