เสนอผู้นำรับรองกรอบศก. “เอเชียแปซิฟิก” ดัน “แบงค็อก โกลส์” ผงาดเวทีเอเปค

เสนอผู้นำรับรองกรอบศก. “เอเชียแปซิฟิก” ดัน “แบงค็อก โกลส์” ผงาดเวทีเอเปค

“ไทย” เตรียมเสนอเวทีผู้นำเอเปครับรอง "แบงค็อก โกลส์" หนุน "บีซีจี" สร้างกรอบการค้าสู่ความยั่งยืน คาดสหรัฐดันต่อเป้าหมาย "บีซีจี"เอเปคปี2566 แนะทบทวน “เอฟทีเอเอเปค" ยึดบทเรียนโควิด-เงื่อนไขใหม่ทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 นับเป็นบทบาทเจ้าภาคเป็นครั้งที่ 3

ประเทศไทยเตรียมเสนอผู้นำเอเปคให้การรับรองเอกสาร “Bangkok Goals on BCG Economy” เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเสนอผู้นำเอเปค หลังจากที่ไทยได้พัฒนาร่างเอกสารร่วมกับสมาชิกเอเปค รวมถึงการหารือในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค โดย Bangkok Goals จะเป็นมรดก (Legacy) ที่ไทยจะมอบให้เอเปคในฐานะเจ้าภาพ

Bangkok Goals เป็นเอกสารย้ำเจตนารมณ์ร่วมของเอเปคในการผลักดันการฟื้นตัวจากโควิด-19 และขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ประการ

1.การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปล่อยก็าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 

2.การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน

3.การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ 

4.การลดคาร์บอนและบริหารจัดการของเสีย

นอกจากนี้ การดำเนินการผลักดัน Bangkok Goals ไทยดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และทั้งระบบภายในกลไกเอเปค ผ่านปัจจัยขับเคลื่อน 4 ประการ ได้แก่ กฎระเบียบที่เอื้ออำนวย การพัฒนาโครงการพื้นฐาน การสร้างขีดความสามารถ และการสร้างเครือข่ายกับภาคส่วนต่างๆ

 

เสนอผู้นำรับรองกรอบศก. “เอเชียแปซิฟิก” ดัน “แบงค็อก โกลส์” ผงาดเวทีเอเปค

ในประเด็น BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) ที่เป็นเป้าหมายหลักใน Bangkok Goals คือ การทำงานร่วมกับสหรัฐที่เป็นเจ้าภาพเอเปค ปี 2566 โดยหนึ่งในประเด็นที่ "สหรัฐให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเติบโตสีเขียว"

มั่นใจประโยชน์จับต้องได้

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า Bangkok Goals on BCG Economy จะเป็นประโยชน์ที่เห็นและจับต้องได้ โดยหากภาคส่วนต่างๆร่วมมือทำให้เป็นรูปธรรม Bangkok Goals on BCG Economy จะเป็น Benchmark หรือ มาตรวัดความสำเร็จของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ซึ่งเป็นภาพที่ต้องการเห็นในการประชุมผู้นำในวันที่ 19 พ.ย.นี้

เนื้อหาสาระไม่เพียงสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทย แต่เป็นวาระโลกที่นานาประเทศรวมทั้งในเวทีสหประชาชาติให้ความสำคัญ และยิ่งจะสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยถ้าย้อนดูการขับเคลื่อนของไทยในปีนี้ จะเห็นความก้าวหน้ามากขึ้นในการเดินหน้าไปสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน และเห็นคืบหน้ามากขึ้นในการสร้างพื้นที่ป่าให้แตะเป้าหมาย 40% ของพื้นที่ประเทศ

"การที่เรานำเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นส่วนกระตุ้นความสนใจและความตระหนักรู้ในสังคมไทยหรือในระดับภูมิภาคในฐานะที่เราเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ ถือว่านี่คือการประสบความสำเร็จ”

นอกจากนี้ Bangkok Goals on BCG จะเป็นเหมือนคัมภีร์ หรือแนวทางปฏิบัติ (Code of conduct) ที่เป็นตัวกำกับการค้าและการลงทุนของสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ นับจากนี้ที่ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ประการ คือ

1.ภาคธุรกิจจะมีความรับผิดชอบอย่างไรต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เคยมีการพูดกันเลยในเวทีเอเปค

2.จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรเพื่อให้การค้าการลงทุนนั้นๆ มีความยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งความยั่งยืน (Sustainability) จะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่สร้างมลพิษและไม่สร้างของเสียออกมา หรือไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม

3.การดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการนำของกลับมาใช้ใหม่และเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.เป็นเรื่องที่อยู่ในใจคนไทยมานาน ว่าเราจะบริหารจัดการขยะอย่างไร

คาดสหรัฐดัน “บีซีจี” ในเอเปค

นับตั้งแต่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคระดับเจ้าหน้าที่และระดับรัฐมนตรีรายสาขาตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเด็น BCG ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางจาก 21 เขตเศรษฐกิจ เพราะจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวิธีการทำมาหากินของประชาชนในเขตเศรษฐกิจเอเปคจะออกมาในรูปของเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 21 เขตเศรษฐกิจกำหนดอนาคตร่วมกัน

นายเชิดชาย กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปีต่อไป ยังให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องนี้ โดยการหารือกับคณะทำงานของสหรัฐที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 พบว่า สหรัฐจะเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ ในขณะที่ปี 2567 ที่เปรูเป็นเจ้าภาพจะผลักดันการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่อยู่ในธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal business) ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของเศรษฐกิจเปรู

“ส่วนในปี 2568 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ลูกบอลแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยคิกออฟแล้วในปีนี้ และถูกส่งต่อจากเจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป สู่ปีถัดๆไป เพื่อยิงประตูเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเกาหลีใต้นั้นทุกคนทราบกันดีว่าเป็นเจ้าแห่ง Green Economy

ไทยจุดพลุ“บีซีจี”เวทีเอเปค

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2560 รัฐบาลนำโมเดล BCG เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน จะมาร่วมกันอยู่ในบริบทของเอเปคอย่างไร โดยมีการสกัดเนื้อหาเพื่อให้ได้หลักปฏิบัติการทำธุรกิจที่ยั่งยืนและมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในยุคที่ทุกเขตเศรษฐกิจและทั่วโลกต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

สำหรับสิ่งท้าทายมาจนถึงปัจจุบันอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจสีเขียว เพราะไม่ได้เป็นกระแสหลักในเวทีเอเปค และคณะทำงานกว่า 40 คณะของเอเปค ไม่มีเรื่องนี้เลย ซึ่งทำให้ไทยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันประเด็นนี้

"ช่วงแรกๆ ผมพูดเสมอว่าจะทำอย่างไรนำแนวคิด BCG มาอยู่ในซุปเปอร์ไฮเวย์ของวงสนทนาเอเปค ถ้าเปรียบแล้ว BCG เป็นไอเดียเฉพาะของไทยที่กำลังจะแชร์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งส่วนตัวมีคำถามอาจขัดแย้งกับวาทกรรมที่ว่าประชาชนจะได้อะไรกับการประชุมเอเปค เพราะทุกวันนี้เราต้องถามกลับว่าประชาชนและสังคมจะให้อะไรกับประเทศ ในแง่การขับเคลื่อนวาะระความยั่งยืน ที่เรารู้ดีว่า ไม่มีคนใดคนหนึ่งทำให้บรรลุแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะต้องใช้องค์ประกอบทั้งสังคม จึงเป็นสิ่งที่เราต่างให้ซึ่งกันและกัน”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 และร่วมพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปค ซึ่งนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

โดยในปี 2564 นี้ นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในหัวข้อหลัก ร่วมกัน ทำงาน เติบโต ไปด้วยกัน และได้นำเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่ส่งเสริมการฟื้นฟู การเพิ่มการมีส่วนร่วมและความยั่งยืนเพื่อการฟื้นฟูและการมุ่งสู่นวัตกรรม และการฟื้นฟูที่ใช้ดิจิทัล

สำหรับการประชุมผู้นำเอเปค จะมีขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับทราบสรุปผลการดำเนินการของเอเปคในแต่ละปี และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่มีความสนใจ โดยจะมีการประกาศนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานของเอเปคในปีต่อไปในรูปแบบของการรับรองแถลงการณ์หรือปฏิญญา (Declaration)

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 ที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ได้บรรลุผลประชุมสำคัญ ๆ เช่น การสนับสนุนให้มีความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

ไทยชงเดินหน้าเอฟทีเอ“เอเปค”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยังระบุอีกว่า ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะนำเสนอในโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ ด้านการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน จะมีการผลักดันผ่านการทบทวนเขตการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) โดยนำบทเรียนจากโควิด-19 มาส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คำนึงถึงประเด็นด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากบรรยากาศการดำเนินธุรกิจที่ดีและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต

ด้านฟื้นฟูความเชื่อมโยง การเดินทาง การท่องเที่ยวหลังโควิด โดยไทยผลักดันการส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจากผลกระทบของโควิด และการยอมรับใบรับรองวัคซีนร่วม โดยผลักดันการยอมรับใบรับรองวัคซีนในภูมิภาคตามความสมัครใจ นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันว่าเอเปคมีความมุ่งมั่นที่จะมีปฏิบัติการด้านวัคซีนร่วมกันและด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน จะเสนอให้ขับเคลื่อน BCG เพื่อให้ภูมิภาคเอเอีย-แปซิฟิก

ไทม์ไลน์การขับเคลื่อนเอฟทีเอเอเปค 

ขณะที่ความพยายามเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอฟทีเอเอเปคนั้น (FTAAP) เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) ในการประชุม ครั้งที่ 12 ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ครั้งนี้ที่ประชุมผู้นำรับทราบข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ABAC เรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ และขอบเขตของการจัดทำ FTAAP ต่อมาในปีพ.ศ.2549 (ค.ศ.2006) การประชุมครั้งที่ 14 กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มีการรับรองผลการศึกษาโดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเปิดเสรีการค้ามากขึ้นภายใต้เอเปค แต่พบว่าความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสมาชิกมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP เป็นเป้าหมายระยะยาวและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่การจัดตั้ง FTAAP

       กระทั่งการประชุมในพ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)  หรือเอเปคครั้งที่ 15 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สมาชิกต่างตกลงที่จะเร่งรัดความพยายามเพื่อลดอุปสรรคการค้าการลงทุน พัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพทางเศรษฐกิจของสมาชิก สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างภายในและส่งเสริมตลาดเงินของภูมิภาค

     ต่อมาปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) การประชุมครั้งที่ 16 กรุงลิม่า ประเทศเปรู กำหนดให้เร่งทำ FTAAP  และในปีพ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 17 ประเทศสิงคโปร์ ที่ประชุมได้ยืนยันการจัดตั้ง FTAAP  และให้เอเปคควรมุ่งวางรากฐานการเปิดเสรีด้านอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาในรายละเอียด ผลดีผลเสียของ FTAAP

ปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) การประชุมครั้งที่ 18 ณ ประเทศญี่ปุ่น เห็นพ้องว่าการจัดทำ FTAAP ควรใช้วิธีสร้าง building block จาก RTAs/FTAs ที่มีหรือกำลังดำเนินอยู่ เช่น ASEAN+3

    อย่างไรก็ตาม  FTAAP ยังถูกหารือในที่ประชุมระดับผู้นำเอเปคมาอย่างต่อเนื่องและในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC2022 ไทยต้องการผลักดันให้ทบทวนการจัดทำ FTAAPโดยต้องรวมประเด็นที่เป็นปัจจุบัน เช่น โควิด-19 เข้าไว้ด้วย