การส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ยั่งยืน ด้วยปัจจัย ESG
ธุรกิจประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ธุรกิจในภาคประกันภัย จำต้องปรับตัวรองรับกับทิศทางดังกล่าว เพื่อร่วมสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน !
เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ข้อริเริ่มด้านการเงินของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP FI) ได้เชื่อมร้อยองค์การสหประชาชาติกับสถาบันการเงินทั่วโลกในการกำหนดวาระด้านการเงินที่ยั่งยืน และสร้างกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญระดับโลกในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเงินรับมือกับความท้าทายต่อประเด็น ESG ในระดับสากล
กรอบความยั่งยืนที่ UNEP FI ได้ริเริ่มและร่วมจัดทำ ประกอบด้วย
หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่เปิดตัวในเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ปัจจุบัน มีธนาคารกว่า 300 แห่ง มีสัดส่วนเกือบครึ่งของอุตสาหกรรมธนาคารในโลก เข้าร่วมลงนาม
หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2555 โดย UNEP FI ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 200 ราย ประกอบด้วย บริษัทประกันที่ลงนามเป็นภาคี PSI จำนวน 132 แห่ง (ถือเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลกอยู่ราว 33%) และสถาบันสนับสนุน PSI อีกจำนวน 97 แห่ง ในบรรดาข้อริเริ่มที่จัดทำขึ้น PSI นับเป็นแนวทางของอุตสาหกรรมในการผนวกการพิจารณาความเสี่ยงด้าน ESG ครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันวินาศภัย
หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยความร่วมมือระหว่าง UNEP FI และ UN Global Compact ปัจจุบัน มีผู้ลงทุนสถาบันราวครึ่งโลก (มีขนาดสินทรัพย์รวมกันราว 83 ล้านล้านเหรียญ) เข้าร่วมลงนาม
กรอบดังกล่าวข้างต้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดมาตรฐาน และช่วยให้มั่นใจว่าระบบการเงินภาคเอกชนดำรงบทบาทอย่างเต็มศักยภาพในการสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั่วโลกในปี ค.ศ.2015
ESG เป็นแกนหลักของ Sustainable Insurance
การประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นแนวดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ ที่ซึ่งกิจกรรมทั้งปวงในสายคุณค่าประกันภัย รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ถูกดำเนินการอย่างรับผิดชอบและคาดการณ์ล่วงหน้า ด้วยการระบุ การประเมิน การบริหาร และการเฝ้าสังเกตความเสี่ยงและโอกาสที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ทั้งนี้ การประกันภัยที่ยั่งยืน มุ่งที่จะลดความเสี่ยง พัฒนาการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม ปรับปรุงผลประกอบการทางธุรกิจ และสนับสนุนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ความริเริ่มว่าด้วยหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นกรอบการทำงานระดับสากลสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยที่คำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และเป็นความริเริ่มระดับสากลที่ใช้เสริมแรงสนับสนุนของอุตสาหกรรมประกันภัยในฐานะผู้บริหารความเสี่ยงภัย ผู้รับประกันภัย และผู้ลงทุน ในอันที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจและประชาคมที่ยั่งยืน ทั่วถึง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่มีสุขภาวะ
การส่งเสริม ESG ในธุรกิจประกันภัยไทย
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการบรรจุเรื่อง ESG ไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2568) โดยส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่ง ที่ผลักดันให้สังคมโดยรวม มีความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ด้วยมาตรการที่จะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เช่น การประกันภัยต้นไม้เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การพิจารณาปรับลดเบี้ยประกันภัยให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว หรือรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
การนำมาตรการจูงใจให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการ ESG มาใช้ เช่น มาตรการทางภาษีและการให้รางวัลแก่บริษัทประกันภัยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG
รวมทั้งมาตรการที่จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยสนับสนุนธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เช่น การลงทุนในโครงการที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือลงทุนในกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับ ESG จากหน่วยงานประเมินด้าน ESG โดยบริษัทประกันภัยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนในโครงการหรือกองทุนดังกล่าว เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้มีการตั้งคณะทำงานการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงาน โดยนำหลักการ ESG มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และให้เกิดความยั่งยืน
เข็มมุ่งของธุรกิจในทุกสาขา รวมถึงธุรกิจประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ธุรกิจในภาคประกันภัย จำต้องปรับตัวรองรับกับทิศทางดังกล่าว เพื่อร่วมสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน