กฎหมายต่างชาติซื้อที่ดิน "ถอย" เพื่อ "ทบทวน"
อัตราเงินเฟ้อที่ทะยานอย่างต่อเนื่องกำลังเล่นงานประเทศต่างๆ ทั่วโลก การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ต้องมีการวางแผนที่ดี
การยอมถอยเพื่อกลับมาทบทวนใหม่ของร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … นับเป็นการลดกระแสความร้อนแรงในประเด็นขายชาติ ลดกระแสการต่อต้านของคนในสังคมลงได้บ้าง ร่างกฎกระทรวงฯ นี้ จะเปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีการลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และคงการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาบุคคลสำคัญในรัฐบาล รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการหารือในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นก็มีบรรดานักธุรกิจ นักวิเคราะห์ต่างๆ ในสังคม แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ แน่นอนว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วย และคัดค้าน รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐออกมาแจกแจงข้อมูลกับสังคมให้ประชาชนได้รับรู้ว่าข้อมูลจริงเป็นอย่างไร บอกให้ชัดเจนถึงที่มาที่ไป รวมทั้งมีข้อเสนอแนะ เช่น ให้เปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่าระยะยาวแทน เป็นต้น
การกลับมาทบทวนเรื่องนี้ ถือว่าไม่เสียหาย หากรัฐจะปัดฝุ่นเนื้อหา หลักเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่ง โดยไม่ฟังความให้รอบด้าน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว ยังมีอีกหลายมาตรการที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยได้ อาจเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็น Public Hearing ถกหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ภาคประชาสังคม ประชาชน สมาคมต่างๆ แล้วดีไซน์ใหม่ในแบบที่ยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชนเป็นหลักการกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เราเชื่อว่า ยังมีอีกหลายมาตรการที่รัฐเร่งดันออกมาให้ได้ก่อน
วันนี้เศรษฐกิจโลกเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ทะยานอย่างต่อเนื่องกำลังเล่นงานประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้บริษัทเทคโนโลยี บริษัทให้บริการทางการเงิน รวมถึงบริษัทแบรนด์ดังในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมใจกันรัดเข็มขัด ชะลอการจ้างงาน และลดจำนวนพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
สถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะนี่คือสัญญาณที่บอกเราล่วงหน้า ขนาดมหาอำนาจยังเอาไม่อยู่ แล้วประเทศที่มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจไม่เพียงพอ ไม่มีการวางแผนที่ดี เสี่ยงที่จะล้มหมอนนอนเสื่อซ้ำอีกรอบได้ง่ายๆ อยู่ที่การวางหมากแก้เกมของรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจประเทศว่า จะต้านท้านมหาวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ได้ไปได้แบบบาดเจ็บเล็กน้อย หรือถึงขั้นโคม่าต้องเข้าไอซียู..