ถอดสูตรสำเร็จ “เอสซีจี” สร้างโมเดลทางรอดธุรกิจยั่งยืน
เอสซีจี องค์กรธุรกิจที่ผ่านมาหลายวิกฤติในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมา วางแนวทาง ESG 4 plus ทางรอดวิกฤติ พร้อมกับมุ่งสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ 2050 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความยั่งยืน
วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Service Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี กล่าวว่า ในนาทีนี้สิ่งที่นักธุรกิจทุกคนต้องพูดถึงแน่นอนคือคำว่า ESG ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวของทั้งโลก เพราะแนวคิดการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตจะมองเพียงแค่ตัวธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องมองให้ครบองค์ประกอบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล
สำหรับนิยามแนวคิด ESG ในแบบของเอสซีจี ได้กำหนดเรื่องที่จะทำ แบ่งเป็น 4 เรื่องด้วยกันเรียกว่า ESG 4 plus ประกอบด้วย
1.Net Zero ตามที่ไทยได้ประกาศบนเวทีโลกในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งเอสซีจีเองได้ร่วมประกาศจุดยืนดังกล่าวด้วย แม้ว่าธุรกิจหลักจะเป็นอุตสาหกรรมทางเคมีที่มีการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตปริมาณมากซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บริษัทได้เริ่มประกาศโรดแมปที่ชัดเจนแล้ว โดยตั้งเป้ามุ่งสู่เน็ตซีโร่ในปี 2050 ด้วยการลดปลอยก๊าซในกระบวนการผลิตและพัฒนาสินค้าที่ลดการสร้างมลพิษ อาทิ กรีนซีเมนต์
2.Go Green ทำให้สินค้าและบริการของเอสซีจีเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์การใช้งานภายในองค์กรและของลูกค้าในการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลก รวมทั้งลูกค้าเองมีสุขภาพและชีวิตที่ดีด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น การติดโซลาร์บนหลังคาที่จอดรถ ระบบอาคารอัจฉริยะ ที่มีเทคโนโลยีการฟอกอากาศสะอาดและลดการใช้พลังงานในอาคาร
3.Lean เหลื่อมล้ำ การพัฒนาโซลูชั่นที่จะช่วยลดช่องว่างของโอกาส ทั้งด้านอาชีพและรายได้เช่น แอปพลิเคชัน “คิวช่าง” ที่สร้างโอกาสการทำงานของช่างฝีมือดี
4.ย้ำร่วมมือ เรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เอสซีจีทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นบริษัทจึงเน้นย้ำความร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง ESG ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวทั่วโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคเข้าสู่ยุคปกติใหม่ การบริหารงานในช่วงเวลาดังกล่าวจึงต้องมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ใหม่ของสังคม
“การรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จึงถือเป็นความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งเอสซีจีโดยธุรกิจสมาร์ตบิลดิ้งโซลูชั่นได้มีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจด้านนวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค”
นอกจากนี้ เอสซีจี มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ เอสซีจี ไฮม์ เป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่ก่อตั้งมากกว่า 12 ปี โดยล่าสุด 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ เรียกว่า Service Solution Business ภายใต้กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เดิมกลุ่มธุรกิจนี้เป็นการผลิตวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก ตั้งแต่ อิฐ หินปูน ทราย โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมองเห็นโอกาสการต่อยอดธุรกิจจากผู้ขายสินค้าสู่การเป็นผู้ให้บริการแก้ปัญหาอาคาร เพื่อตอบโจทย์การใช้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในรูปแบบ B2C และ B2B ตั้งแต่การสร้างบ้านใหม่ไปจนถึงการรีโนเวทปรับปรุง
ทั้งนี้ ปัญหาในปัจจุบัน อาทิ ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศ ฝุ่นควัน ความร้อน รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคปลายทางและองค์กรธุรกิจต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยมลพิษจากอาคาร และตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเอสซีจีมีการพัฒนาสินค้าและบริการตอบรับกับเทรนด์และโจทย์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะกับลูกค้า
ยกตัวอย่างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเอสซีจีได้ส่งมอบนวัตกรรมด้านการก่อสร้างและสุขภาพให้กับโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ
“วชิระชัย” สะท้อนมุมมองประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปี กับเอสซีจี ว่า เริ่มทำงานเป็นเด็กจบใหม่ที่นี่ตั้งแต่ในตำแหน่งวิศวกรโรงงาน เป็นนักเรียนทุนของเอสซีจีแล้วกลับมาอยู่แผนกการเงิน ฝ่ายขาย และวางแผน สู่การเป็นผู้บริหาร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ประทับใจที่สุดเกี่ยวกับเอสซีจี คือcore value หรืออุดมการณ์ของบริษัทที่ถือเป็นดีเอ็นเอกว่า 110 ปีของเอสซีจีทั้ง 4 ด้าน คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นใจความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหล่อหลอมให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้การช่วยเหลือสังคมด้วยศักยภาพของเอสซีจี ยกตัวอย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำหรับช่วงที่ท้าทายที่สุดในการทำงานไม่ใช่การเปลี่ยนตำแหน่งงาน แต่เป็นการก้าวเข้ามาทำเรื่องโซลูชั่นนวัตกรรมของเอสซีจี ไฮม์ เพราะเป็นการทำงานที่ต่างจากการทำตามหน้าที่แต่เป็นการทำธุรกิจใหม่ที่ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง จึงต้องสร้างทีมที่จะทำงานร่วมกันและทำให้เราปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่
“คล่องตัว-ยืดหยุ่น” หัวใจขับเคลื่อนธุรกิจใหม่
“วชิระชัย คูนำวัฒนา” Head of Service Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวถึงการผลักดันธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจโซลูชั่น ว่า ปัญหาสำคัญ คือ มีหลายเรื่องที่เราไม่รู้และไม่ยอมถามคนอื่น จนวันหนึ่งเราต้องปรับตัวและยอมรับฟังคนที่รู้มากกว่าการมีทัศนคติ “คล่องตัว" (agile) และ “ยืดหยุ่น" (resilient) จึงสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ใหม่ๆ
“ผมเสียสละแรง เวลา และอีกหลายอย่างเพื่อแลกกับการขับเคลื่อนแพชชั่นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการได้พัฒนาโซลูชั่นที่สร้างอิมแพ็คให้กับลูกค้าและสังคมถือเป็นกำลังใจและพลังสำคัญในการทำงาน”
ในมุมมองของคนที่ทำงานด้วยกันคงจะบอกว่าเป็นคนบ้างาน แต่ก็พยายามการบาลานซ์ชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวให้มีความสุข และคลายเครียดด้วยการวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร ซึ่งเคยวิ่งมาแล้ว 7 ครั้ง ผมเชื่อว่าการทำงานอะไรก็แล้วแต่ใจต้องนิ่งเพื่อรับสิ่งต่างๆและการมีสภาพจิตใจดีก็มาจากร่างกายที่แข็งแรง
ดังนั้นการวิ่งมาราธอนต้องวางแผน เตรียมตัว ฝึกซ้อม และอยู่ที่จิตใจผู้วิ่งด้วย การเข็นตัวเองให้ออกไปซ้อมทุกวันต้องใช้พลังใจอย่างมาก ซึ่งการทำงานกับการวิ่งมาราธอนมีความคล้ายกันตรงนี้ ต่างกันตรงที่การวิ่งมาราธอนมีเส้นชัยที่ 42 กิโลเมตร แต่การทำงานไม่มีจุดสิ้นสุด
“ผมว่าถ้าเปรียบกันแล้วการทำงานเหมือนกับการวิ่งเทรลมากกว่า คือเราไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง ทั้งเขา โคลน ลำธาร ซึ่งไม่ว่าเราจะเจออุปสรรคอะไรเข้ามาถ้าร่างกายพร้อม ใจพร้อมก็รับมือกับปัญหาได้”
สำหรับคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในรุ่นต่อไป ผมมองว่าไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเหมือนใครเป็นรูปแบบพิมพ์นิยม เพราะคนเรามีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต่างกันแต่ 2 เรื่องที่ผู้นำจะต้องมีคือ การกำหนดทิศทางตัดสินใจและการสร้างทีมที่ดีเพื่อขับเคลื่อนองค์กร