ความเสี่ยงโลกปี 2566 | ธราธร รัตนนฤมิตศร
สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้ออกรายงานความเสี่ยงโลกล่าสุด ปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยนำเสนอข้อค้นพบล่าสุดจากการสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงโลกของผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งเน้นย้ำถึงผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของวิกฤตการณ์ในปัจจุบันต่อความเสี่ยงระดับโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ความเสี่ยงของโลกในระยะสั้นช่วง 2 ปีข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า วิกฤติค่าครองชีพ (cost-of-living crisis) ถูกจัดอันดับเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่ส่งผลกระทบสูงสุดที่สุด รองลงมาได้แก่ภัยธรรมชาติและเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง (Natural disasters and extreme weather events) และการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geoeconomic confrontation)
วิกฤติค่าครองชีพเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ที่ผสมผสานกัน ทำให้ผู้คนทั่วโลกประสบกับความยากลำบากในการซื้อสิ่งของที่จำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน โดยราคาของสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหารและที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนโควิด-19 ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาแล้ว แต่สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลง
เนื่องจากการหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานและอาหารจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มาตรการการห้ามส่งออกที่ใช้ใน 30 ประเทศ รวมถึงการที่รัสเซียประกาศระงับการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำ ได้ส่งผลทำให้เกิดความไม่แน่นอนในราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น
แม้ห่วงโซ่อุปทานโลกได้มีการปรับตัวบางส่วนเพื่อรองรับผลกระทบ แต่ก็พบว่าดัชนีราคาที่จัดทำโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO Price Index ได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ในขณะที่คาดว่าราคาพลังงานยังมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 46% ในปี 2566 นี้
นอกจากนี้ คาดว่าการผ่อนคลายนโยบายโควิด-19 ของประเทศจีนก็อาจส่งผลทำให้ราคาสินค้าอาหารและพลังงานสูงขึ้นอีก วิกฤติค่าครองชีพเป็นปัญหาที่รุนแรงในช่วงระยะ 2 ปีข้างหน้า แต่ก็อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสังคม เนื่องจากราคาของสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ผู้คนจำนวนมากขึ้นจะไม่สามารถเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานที่มีราคาสูงขึ้นเหล่านี้ได้ อาจนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมือง นอกจากนี้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานมีความหนืดต่อการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่แรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และส่งผลต่อความเสี่ยงของปัญหาหนี้สิน
อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อและทำให้รัฐบาลวางแผนการเงินได้ยากขึ้น หลังวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในด้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจระดับล่างและผู้เกษียณอายุ
จากแนวโน้มราคาค่าอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยยังคงเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนที่ยากจนจะต้องยอมเสียสละรายจ่ายในด้านอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่แย่ลง
หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว สามารถรองรับผลกระทบของวิกฤติค่าครองชีพได้ผ่านโครงการของรัฐบาล เช่น การจำกัดราคาค่าไฟฟ้า การลดราคาน้ำมัน และการอุดหนุนตั๋วโดยสารสาธารณะ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้สร้างแรงกดดันทางการเงินต่อรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว
ในขณะประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาจากงบประมาณที่มีจำกัดในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเมื่อได้ใช้จ่ายงบประมาณไปจำนวนมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาหลายปี
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของสิ่งจำเป็นพื้นฐานสามารถนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองได้โดยในปีที่แล้ว การขึ้นราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียวนำไปสู่การประท้วงถึง 92 ประเทศ บางประเทศส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและมีผู้เสียชีวิต
ความเปราะบางทางสังคมนี้จะแย่ลงไปอีกในประเทศที่เผชิญกับวิกฤติอาหารและหนี้สินพร้อมกัน การจัดการกับวิกฤติค่าครองชีพและการให้ความคุ้มครองผู้ที่เปราะบางที่สุดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสูงสำหรับผู้ดำเนินนโยบายในปีนี้
รายงานพบว่า ความเสี่ยงของโลกที่ส่งผลกระทบสูงในระยะกลางประมาณ 10 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity loss and ecosystem collapse)
อาชญากรรมทางไซเบอร์และความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างกว้างขวาง (Widespread cybercrime and cyber insecurity) และการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ (Large-scale involuntary migration) ได้กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลก
รายงานความเสี่ยงโลกปี 2023 เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไปจนถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี
ซึ่งภาครัฐในทุกประเทศต้องลุกขึ้นมาพูดคุยและเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ในขณะที่ประชาชนจำเป็นต้องมีความเข้าใจใสความเสี่ยง เตรียมความพร้อมและสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ให้กับชีวิตตนเอง