SCG รื้อแผนลงทุนปี 66 ลุยฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

SCG รื้อแผนลงทุนปี 66 ลุยฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

“เอสซีจี” เปิดผลกำไรปี 65 ลดลง 55% หดตัวต่ำสุดรอบ 14-15 ปี นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ผลกระทบวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งด้านต้นทุนพุ่งจากราคาพลังงาน วัตถุดิบและต้นทุนการเงิน ขณะที่ดีมานต์ลดลงจากวิกฤติโควิดและวัฏจักรขาลงของปิโตรเคมี

คาดปี 2566 มีสัญญาณดีขึ้นแต่ความไม่แน่นอนยังสูง ตั้งงบลงทุนปีนี้ 4-5 หมื่นล้าน เซ็ตซีโร่จัดลำดับลงทุนใหม่ ให้ความสำคัญการรักษาคนเก่งในองค์กร

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้หลายบริษัทได้รับผลกระทบและต้องปรับแผนธุรกิจ รวมถึงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี โดยเมื่อพิจารณารายได้ในช่วงปี 2563-2565 ของเอสซีจีพบว่าปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 รายได้ลดต่ำลงอยู่ที่ 399,939 ล้านบาท ก่อนจะขยับตัวดีขึ้นและในปี 2565 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 569,609 ล้านบาท

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 ได้เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังจะครบ 1 ปี ในเดือน ก.พ.2566 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ในปี 2565 เอสซีจีต้องเผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติที่หนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มปะทุขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายหลายด้านที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ ซึ่งไม่ใช่เพียงวิกฤติราคาพลังงานเท่านั้น แต่รวมถึงความต้องการสินค้าที่ลดลงเนื่องจากลูกค้าลดการสต็อกสินค้า ทำให้ต้องลดกำลังการผลิตตลอดทั้งซัพพลายเชน นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น หลังจากผ่านช่วงวิกฤติโควิดมาได้ รัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

“ยอมรับปี 2565 กำไรลดลงอย่างมาก ต่ำสุดในรอบ 14-15 ปี นับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แม้เอสซีจีจะปรับตัวเพื่อลดต้นทุนไปมากแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถต้านได้ ซึ่งอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบในลักษณะใกล้เคียงกัน เอสซีจีจึงต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่า”

ผลประกอบการของเอสซีจีปี 2565 มีกำไร 21,382 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 55% มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว วัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ต้นทุนพลังงานสูงทั้งถ่านหินและค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว

SCG รื้อแผนลงทุนปี 66 ลุยฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ ปรับแผนลงทุนปีนี้ 5 หมื่นล้าน

สำหรับปี 2566 เอสซีจีมีแผนลงทุนในโครงการที่จำเป็นภายใต้งบลงทุน 40,000-50,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นการปิดโครงการพร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดช่วงกลางปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวม ซึ่งตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายเติบโต 10% ที่คาดว่าจะมีรายได้จากเอสซีจีเคมีคอลส์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทิศทางราคาสินค้าตลาดโลกอีกครั้ง

“เอสซีจี ยังคงมุ่งรักษาความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่อง โดยกลับมาเซ็ตซีโร่ จัดลำดับและพิจารณาโครงการลงทุนให้มีความเหมาะสมอีกครั้ง โดยจะลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ รัดเข็มขัด รวมทั้งลดต้นทุนพลังงาน และการให้ความสำคัญกับการรักษาคนเก่งในองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เอสซีจีฝ่าวิกฤติในครั้งต่อไปได้”

ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ลงทุนในนวัตกรรม คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น สร้างโซลูชันรองรับเมกะเทรนด์โลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

ทั้งนี้ มองว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งตลาดในภูมิภาคเริ่มฟื้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ตามยังมีความไม่แน่นอนสูงมากทำให้ยังวางใจไม่ได้

ธุรกิจเคมีคอลส์กำไรลดลง 80%

รวมทั้งหากพิจารณาผลการดำเนินงานเป็นรายธุรกิจในปี 2565 พบว่า

ธุรกิจเคมีคอลส์ มีรายได้จากการขาย 236,587 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1% มีกำไร 5,901 ล้านบาท ลดลง 80% เนื่องจากปริมาณขายสินค้าลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายสินค้าปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทำให้ไตรมาส 4 ปี 2565 ขาดทุน 1,052 ล้านบาท เพราะรายได้จากการขายที่ 43,285 ล้านบาท ลดลง 25%

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้ 204,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% มีกำไร 3,789 ล้านบาท ลดลง 11% จากกลยุทธ์การปรับราคาขายสินค้าส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและในภูมิภาค ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปี 2565 ขาดทุน 717 ล้านบาท

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP มีรายาได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ และการขยายกำลังการผลิต มีกำไร 5,801 ล้านบาท ลดลง 30% จากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการหดตัวของปริมารการขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก

ส่วนของผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 เอสซีจี มีกำไรสำหรับงวด 157 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 94% มีรายได้จากการขาย 122,190 ล้านบาท ลดลง 14% จากส่วนต่างราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง ต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่นจะมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,070 ล้านบาท ลดลง 66%

ขณะที่ความคืบหน้าการนำธุรกิจเอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัยพ์แห่งประเทศไทย(ตลท.) อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน

รุกผลิตพลังงานสะอาด

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี รับมือกับพลังงานถ่านหินและค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยการรุกธุรกิจพลังงานสะอาด และในปี 2565 เอสซีจี มีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 78% จากปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34% และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ เอสซีจี ร่วมทำงานกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization - CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050

ลุยนวัตกรรมพลาสติกสีเขียว

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดขายกว่า 140,000 ตัน ทั่วโลก ล่าสุด ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) Recycling Holding Volendam B.V. ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจฯ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ครอบคลุมภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited-LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้ โดยจะเจาะกลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนการนำเข้าป็นหลัก SCG รื้อแผนลงทุนปี 66 ลุยฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ

พัฒนาโซลูชันธุรกิจก่อสร้าง

นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี เร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตกว่า 40% อาทิ “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึง 20-30% ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์ ทั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้พัฒนา “SCG Built-in Solar Tile” นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ 60%

เร่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต 

รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG
SCG รื้อแผนลงทุนปี 66 ลุยฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ