สรุปปมปลาหยก ส่อล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม CPF เคลียร์ชัด ทำไมต้องเป็นปลาหยก
ทำไมต้องปลาหยก? CPF เคลียร์ชัดๆ กรณี “ปลาหยก” หรือ “ปลาเก๋าหยก” ที่เปิดตัวไม่ทันไร ก็ถูกกระแสตีกลับ ฐานะหนึ่งใน “เอเลียนสปีชีส์” ห้ามเพาะเลี้ยงในไทย จนล่าสุดกรมประมงสั่งเบรกระงับโฆษณาใน 3 วัน
เรียกได้ว่าเป็นปมร้อนต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีข่าวการเตรียมเปิดตัว “ปลาหยก” หรือ Jade Perch ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดยถูกตั้งคำถามว่า มันใช่ชนิดเดียวกันกับ “ปลาเก๋าหยก” หนึ่งในสัตว์น้ำที่อยู่ในบัญชี “ห้ามเพาะเลี้ยง” ตามประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 หรือไม่
โดยล่าสุด ก็ได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า “เป็นชนิดเดียวกัน” ซึ่งเจ้าปลาหยก หรือ ปลาเก๋าหยก ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วใน “งานเกษตรแฟร์ 2566” โดยมีการวางขายทั้งแบบปลาปรุงสุกและแบบเนื้อปลาสดให้นำกลับไปประกอบอาหารเอง ซึ่งผู้จัดเผยว่า การเปิดตัวครั้งนี้ถือเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย
สำหรับการเปิดตัวปลาเก๋าหยกนั้น เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้จัดการสูงสุดด้านงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก CPF ระบุว่า ต้องการผลักดันให้ปลาชนิดนี้เป็น “สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่” ของไทย เนื่องจากเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในทวีปเอเชีย และมีเริ่มมีการเพาะเลี้ยงไปแล้วในบางประเทศ เช่น เวียดนาม และ มาเลเซีย รวมถึงต้องการให้เป็นทางเลือกของคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากปลากเก๋าหยกเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง มีคอลลาเจน ดีเอชเอ และโอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอนถึง 3 เท่า
พร้อมกันนี้ยังเผยอีกด้วยว่า การเพาะเลี้ยงดังกล่าวเป็นการเลี้ยงในระบบปิดและได้รับการตรวจสอบจากกรมประมงเรียบร้อยแล้ว
- CPF เปิดใจ ทำไมต้อง “ปลาหยก”?
ในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจของปลาเก๋าหยกนั้น “เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร” ผู้จัดการสูงสุดด้านงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก CPF ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า แม้ว่าปลาเก๋าหยกจะเป็นปลาที่อยู่ในบัญชีสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปลาที่ใหม่ในแง่ของเศรษฐกิจ ทำให้มองเห็นโอกาสในการทำตลาดจากปลาดังกล่าว
ทางบริษัทเล็งเห็นจากความนิยมบริโภคในหลายพื้นที่ ทั้ง จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ทำให้คุ้มค่าที่จะลงทุนทดลองเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าว ซึ่งการจะเพาะเลี้ยงได้นั้น ต้องทำเรื่องไปยัง “กรมประมง” เพื่อขออนุมัติทดลองเพาะเลี้ยง
โดยขั้นแรกมีการนำเข้ามาเพื่อทดลองเพาะเลี้ยงในบ่อที่เป็นระบบปิดและไม่มีการปล่อยน้ำออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องใช้น้ำแบบหมุนเวียนในฟาร์ม
แต่ทั้งนี้ ในกระบวนการทดลองเพาะพันธุ์พบว่า ตัวปลายังมีปัญหาอยู่ เช่น อ่อนแอ ป่วยง่าย ไม่แข็งแรง ทำให้เพาะพันธุ์ยาก แต่ถ้าหากสามารถศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ได้อย่างละเอียดแล้วก็เชื่อว่าจะเป็นสัตว์น้ำอีกหนึ่งชนิดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไทย
เสริมโดย "สมบัติ สิริพันธ์วราภรณ์" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพี เวียดนาม คอร์โปเรชั่น กล่าวว่าปลาเก๋าหยกเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย และมีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือน ต.ค.-ม.ค. ในช่วงที่น้ำในแม่น้ำมีอุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียสขึ้นไป แต่เมื่อมาอยู่ประเทศไทยไม่สามารถผสมพันธุ์เองได้จึงต้องผสมเทียมเท่านั้น แต่ก็คิดหาวิธีให้ปลาผสมพันธุ์ได้ง่ายขึ้นเพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรสามารถนำปลาไปเพาะเลี้ยงได้ เนื่องจากเป็นปลาที่มีเนื้อมากถึงร้อยละ 48.4 และมีก้างแฝงในเนื้อน้อยรวมกับมีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสมในการบริโภค
- กรมประมงยืนยัน แค่อนุมัติ “ศึกษาวิจัย”
หลังจากมีงานสัมมนา ปลาหยก วากิวแห่งสายน้ำ สัตว์เศรษฐกิจใหม่ของไทย อุดมด้วยโอเมก้า 3 เพื่อเปิดตัวปลาหยกในงานเกษตรแฟร์ 2566 ช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.พ.66 พอตกเย็นในวันเดียวกัน “เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์” อธิบดีกรมประมง ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยสรุปได้ดังนี้
- ปี 2561 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยกเพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยง
- หลังจากระยะทดลองได้ชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่
- เมษายน 2565 CPF ขออนุญาตดำเนินการ “ศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาด” ผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่
- กรมประมงอนุญาตให้ศึกษาวิจัยดังกล่าว โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ “เพื่อการศึกษาวิจัย”และ ต้อง “ดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาต” เท่านั้น รวมถึง “ห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด”
- สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองฯ กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง รวมถึงจำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามาเท่านั้น เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร
ที่สำคัญ คือ การดำเนินการศึกษาวิจัยต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง
“จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึงทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ โดยขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป” อธิบดีกรมประมงกล่าว
- ข้อกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าทางผู้ประกอบการยืนยันว่ามีการขออนุญาตทดลองเพาะเลี้ยง? มีใบอนุญาต และได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่กังวลว่าหากเกิดข้อผิดพลาดมีปลาหลุดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก “Alien Species” สัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศ
"วินิจ ตันสกุล" นักวิชาการอิสระด้านพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมกิจการประมงไทย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า แม้ปลาเก๋าหยกจะเข้ามาในไทยโดยถูกกฎหมาย แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากหลุดไปสู่ธรรมชาติจะสร้างผลเสียแก่สิ่งแวดล้อมตามที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่ เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงเฉพาะในฟาร์มแบบปิดเท่านั้น จึงไม่สามารถหาตัวอย่างปลาที่อยู่ตามธรรมชาติมาทำการศึกษาโดยการผ่าท้องดูได้ว่าหากพวกมันหลุดไปสู่ธรรมชาติแล้วพวกมันจะกินอะไรบ้าง เนื่องจากปลาเก๋าหยกแม้ว่าจะไม่ใช่ปลานักล่าแต่ก็เป็นปลาที่กินเยอะดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและพืชน้ำได้ แต่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะมีลูกปลาหลุดลงสู่แหล่งน้ำแล้วสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ หรือมีการตัดแต่งพันธุกรรมปลาให้เปลี่ยนแปลงไปนั้น ผู้จัดการสูงสุดด้านงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก CPF มั่นใจว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะฟาร์มมีระบบป้องกันที่ดี
ล่าสุดวันนี้ (5 ก.พ. 66) ทาง CPF ได้นำบูธการเปิดตัวปลาหยกออกจากงานเกษตรแฟร์ 2566 เรียบร้อยแล้ว