ธุรกิจครอบครัว พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โมเดลธุรกิจใหม่เป็นอีกหนึ่งทางรอดของธุรกิจครอบครัว ด้วยแนวคิดการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการและกระบวนการผลิต ตลอดจนเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาใช้
ผลวิจัยหลายชิ้นมีข้อสรุปว่าธุรกิจครอบครัวมักจะไปไม่รอดเมื่อเข้าสู่เจเนอเรชันที่ 3 โดยความขัดแย้งของครอบครัวมักเริ่มในรุ่นที่ 2 แต่ยังสามารถหารือพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ และเมื่อเข้าสู่รุ่นที่ 3 มักเจอปัญหามีข้อพิพาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจมีการขยายตัว มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ ซึ่งนำมาสู่สินทรัพย์ของธุรกิจที่เติบโตขึ้นหรือมีการแบ่งทรัพย์สินออกไป ซึ่งทำให้ธุรกิจครอบครัวบางธุรกิจมีการลดขนาดลงหรือบางธุรกิจเลิกกิจการไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจไทยที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระดับเอสเอ็มอีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมไปถึงธุรกิจระดับบิ๊กคอร์ปที่กลายมาเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเมื่อธุรกิจขยายตัวมาถึงจุดหนึ่งจะมีความพยายามปรับแนวทางการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะการจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารกิจการ แล้วขยับคนในครอบครัวขึ้นไปดูแลนโยบาย แต่จุดอ่อนของธุรกิจครอบครัวจะอยู่ที่การส่งไม้ต่อทำให้การเตรียมคนของตระกูลในรุ่น 3-4 จึงมีความสำคัญ
โมเดลธุรกิจใหม่เป็นอีกหนึ่งทางรอดของธุรกิจครอบครัว โดยโมเดลธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จสำหรับรุ่นที่ 1 เมื่อเข้าสู่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไปแน่นอนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับตลาด เราจึงได้เห็นธุรกิจครอบครัวบางธุรกิจที่มีอายุอยู่ได้ 50-100 ปี จะมีการปรับธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤติต่างๆ มาได้ทั้งวิกฤติน้ำมัน, วิกฤติเศรษฐกิจ 2540, วิกฤติซับไพร์ม, วิกฤติน้ำท่วม 2554 จนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างความบอบช้ำให้เศรษฐกิจทั่วโลก
ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่รุ่นที่ 2-3 จะเป็นรุ่นที่ผ่านการศึกษามาและเริ่มมีแนวคิดการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการและกระบวนการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับองค์กรเพื่อให้มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันจะมีการนำทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาใช้ ซึ่งการที่ผู้บริหารรุ่นใหม่พร้อมทรานส์ฟอร์มธุรกิจ แต่อีกส่วนที่สำคัญ คือ ไม่ละเลยประสบการณ์ของผู้บริหารรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์ทรานส์ฟอร์มองค์กรในยุคของเขามาเหมือนกัน
การอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจึงมีผลต่อความเข้มแข็งของภาคธุรกิจไทย ซึ่งไม่ได้มีการแข่งขันเฉพาะตลาดในประเทศไทยอีกแล้ว ถึงเวลาที่ภาคธุรกิจไทยต้องมีความเข้มแข็งเพื่อออกไปแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ตลาดแทบจะไม่มีพรมแดน การอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจึงไม่ได้อยู่แค่การส่งไม้ต่อให้อีกรุ่น หรือการจัดโครงสร้างธุรกิจให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลเข้าไปด้วย เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย