ศึกซอฟต์พาวเวอร์มหาอำนาจ สหรัฐมีไอโฟน จีนมีติ๊กต็อก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีความสำคัญในการใช้ชีวิตของมนุษย์เราหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่าง "จีน" และ "สหรัฐ" ที่นอกจากเป็นเรื่องของประชาชนแล้วยังยิ่งไปไกลจนถึงรัฐบาล
ในยุคแห่งเทคโนโลยี สมาร์ตโฟนเครื่องเดียวเป็นได้ทุกอย่างในชีวิต สมัยนี้ออกจากบ้านลืมกระเป๋าสตางค์ยังอยู่ได้แต่ถ้าลืมมือถือชีวิตแทบไปไม่เป็น สำหรับวัยรุ่นไม่ใช่ว่าจะใช้สมาร์ตโฟนแบรนด์ใดก็ได้ ในสหรัฐถ้าจะให้เข้าพวกต้องใช้ “ไอโฟน” เรื่องนี้ข้อมูลใหม่จากเอเท็น แพลตฟอร์มข้อมูลเทคโนโลยีด้านการศึกษา ระบุว่า ลูกค้า Gen Z ที่เกิดหลังปี 2539 คิดเป็น 34% ของผู้ใช้ไอโฟนทั้งหมดในสหรัฐ เมื่อเทียบกับแบรนด์ซัมซุง คน Gen Z ในสหรัฐใช้เพียง 10% และคนที่ใช้ไอโฟนมีแนวโน้มที่จะซื้อแม็กบุ๊กส์ (MacBooks), แอ๊ปเปิ้ลวอทช์ และแอร์พอดตามมา
ความสำคัญของคน Gen Z อยู่ตรงที่มีส่วนผลักดันธุรกิจมากที่สุดในทุกเจน Gen Z ใช้เวลาเล่นสมาร์ตโฟนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน นอกเหนือจากสหรัฐแล้วไอโฟนเป็นที่ต้องการของคนทุกประเทศ สังเกตได้จากเปิดตัวรุ่นใหม่ทีไรต้องมีคนไปเข้าแถวรอซื้อข้ามคืนกันเลยทีเดียว จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่า ไอโฟนคือซอฟต์พาวเวอร์สหรัฐใช่หรือไม่
อีกหนึ่งข่าวที่มีมาโดยตลอดคือสหรัฐห้ามบุคลากรรัฐบาลกลางใช้แอปติ๊กต็อก เนื่องจากบริษัทแม่ “ไบต์แดนซ์” เป็นบริษัทจีนจึงเกรงว่าจะถูกล้วงข้อมูล รัฐบาลวอชิงตันให้เวลา 30 วันลบติ๊กต็อกออกจากอุปกรณ์ของรัฐทุกเครื่อง หลังจากสหรัฐห้าม สหภาพยุโรป และแคนาดาก็เอาบ้างด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน เท่านั้นยังไม่พอล่าสุดทำเนียบขาวประกาศว่า กำลังหาทางกับสภาคองเกรสเล่นงานติ๊กต็อกเพิ่มอีก สำหรับคนไทยอาจสงสัยว่าจะกลัวอะไรกันนักกันหนากับติ๊กต็อก แอปนี้มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน เฉพาะในสหรัฐกว่า 100 ล้านคน กรณีนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่า ติ๊กต็อกคือซอฟต์พาวเวอร์จีนใช่หรือไม่ เมื่อสหรัฐมีไอโฟน จีนก็มีติ๊กต็อก สุดยอดด้วยกันทั้งคู่ ใครจะช่วงชิงแฟนคลับทั่วโลกได้มากกว่ากัน
พิจารณาจุดเริ่มต้นทั้งไอโฟนและติ๊กต็อกคือการทำธุรกิจ บริษัทต้องการผลิตสินค้าและบริการหารายได้ทำกำไร ไม่มีใครประกาศว่าจะทำซอฟต์พาวเวอร์ แต่สินค้าเกิดฮิตติดตลาดเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้อย่างนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เรียกว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง ขอปรบมือให้กับทั้งสองบริษัท ตอนนี้พูดถึงไอโฟนแม้ไม่รู้จักแอ๊ปเปิ้ลอิงค์ก็รู้ว่าเป็นแบรนด์สหรัฐ เช่นเดียวกันแม้ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของแต่ติ๊กต็อกก็คือจีน ขณะที่ผู้บริโภคก็สนุกสนานกันไปกับทั้งสองแบรนด์ใช้ไอโฟนเล่นติ๊กต็อก รัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งจะทะเลาะกันก็ช่างปะไร! ส่วนไทยวานนี้ (1 มี.ค.) กระทรวงวัฒนธรรมเปิดตัว ‘เบิร์ด ธงไชย’ เป็นศิลปินในโครงการ Thai 5F Soft Power ผ่าน MV เพลง “ฟ้อนทั้งน้ำตา” นำเสนอเสน่ห์ของวัฒนธรรม ทั้งอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่นไทย มวยไทย เทศกาลประเพณีไทย เพื่อโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย นี่ก็ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ ที่แท้ทรู!