เมื่อ 'โรงหนัง' ตกเป็นผู้ร้ายนอกจอ ภาพยนตร์ไทยซ้ำซาก?

เมื่อ 'โรงหนัง' ตกเป็นผู้ร้ายนอกจอ ภาพยนตร์ไทยซ้ำซาก?

ควรพลิกบทบาทเป็นพระเอกมากกว่า! เมื่อ 'โรงหนัง' ตกเป็นผู้ร้ายนอกจอ ภาพยนตร์ไทยซ้ำซาก?

อ่านจดหมายเปิดผนึก สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เรื่อง การจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทย ที่ไม่เป็นธรรม จับใจความประเด็นการจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทย ล่าสุดกรณีของภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 3 เป็นตัวอย่าง ซึ่งปัญหาการจัดโรงและรอบฉายที่ไม่เป็นธรรม ตัดโอกาสของภาพยนตร์ไทย นับเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้สร้างจำนวนมากไม่กล้าลงทุนในภาพยนตร์คุณภาพที่มีเนื้อหาหลากหลาย

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ชี้ว่า ผลต่อเนื่องของปัญหาเรื้อรังดังกล่าว ทำให้คนดูหนังรู้สึกเสื่อมศรัทธากับภาพยนตร์ไทย เพราะมีเนื้อหาที่ซ้ำซากและไม่พัฒนา

ดังนั้น ค่ายโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีไม่กี่เจ้า ตกเป็นจำเลย กลายเป็นผู้ร้ายนอกจอ ในข้อหาทำให้วงการภาพยนตร์ไทยเกิดความซ้ำซากด้านเนื้อหาที่มีมากคือหนังตลกและหนังผี นำไปสู่ความตกต่ำ ถึงกระนั้น คงต้องรู้ฟังคำชี้แจงจากค่ายโรงภาพยนตร์

ทว่า น่าเห็นใจผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งในวงการภาพยนตร์ไทยก็มีสร้างภาพยนตร์เอาไว้ แต่ยังไม่ปล่อยเข้าโรงเพราะกังวลการจัดโรงและรอบฉาย

ดูตัวอย่าง กรณี ภาพยนตร์วัยอลวน 5 ของ ไพโรจน์ สังวริบุตร และ ภาพยนตร์ สะพานรักสารสิน 2216 ของเอกชัย ศรีวิชัย เข้าฉายไม่กี่วันก็ลาโรงไป

ก่อนหน้านี้ หนังของผู้กำกับฯดังรุ่นครู "แจ๊สสยาม" กฤษฏ์ บุณประพฤทธิ์ เรื่อง "งู" เข้าโรงฉายเมื่อปี 2563 ต้องเจอปัญหานี้ รวมไปถึงภาพยนตร์ของ "ปรมาจารย์ภาพยนตร์ไทย" ท่านหนึ่ง ก็ยังรอจังหวะเพราะกังวลเหตุนี้เช่นกัน

ความเป็นจริง ตลาดภาพยนตร์ที่ฉายในประเทศไทย นอกจากภาพยนตร์ไทยที่ถูกลดพื้นที่ลงมากเป็นตัวเลือกรอง วงการเหมือนซบเซาไม่คึกคักแล้วนั้น โรงหนังให้บทบาทพระเอกคือภาพยนตร์ต่างประเทศ จากฮอลลีวู้ดเป็นตัวชูโรง เพราะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่ยึดแย่งรอบฉายไปจนหมด เพราะมองว่ามีผู้ชมต้องการดูมากกว่า

นาน ๆ ทีที่ภาพยนตร์ไทยจากค่ายดัง อย่าง จีดีเอช และค่ายโรงหนัง อย่าง สหมงคลฟิล์ม , เอ็ม พิคเจอร์ส ซึ่งได้รอบฉายพอและทุ่มโรงโมท แต่ถ้าหนังไม่มีกระแสก็อยู่ยากในโรงภาพยนตร์ไทย

แน่นอนว่า ไม่มีใครอยาก "แบกภาระ" ต้นทุนและหวังกำไร ค่ายโรงหนังเห็นภาพยนตร์ไทยไม่มีคนดูเท่าภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด จึงผลักภาระเอาออก ให้ผู้สร้างและผู้กำกับฯไปสร้างกระแส แต่เมื่อกระแสไม่เกิด ดึงผู้ชมเข้าโรงไม่ได้ สุดท้ายเอาภาพยนตร์ไทยออกจากโรง ปล่อยให้ผู้สร้างและผู้กำกับฯแบกภาระไปหาช่องฉายในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเอาทุนคืน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้กำกับฯมักขาดทุนเสียมากกว่า

สถานการณ์ภาพยนตร์ไทย จึงไม่พัฒนาไปถึงไหน เพราะกลไกรัฐ และรัฐบาลยังเห็นปัญหาไม่ตรงกันและแก้ไขไม่ทันการณ์ ซึ่งความหวังว่า สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ จะช่วยกันแก้ปัญหาประคับประคองวงการภาพยนตร์ไทย เพราะในสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีตัวแทนจากโรงภาพยนตร์ นายทุน และภาครัฐ ซึ่งยังไม่แน่จะมีแอ็กชันเพียงใด

อนึ่ง ภาพยนตร์ไทย ถือเป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่หนุนให้คนทั่วโลกได้รู้จักประเทศของเราในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งมวยไทย แหล่งท่องเที่ยว และศิลปะวัฒนธรรม ดังนั้น อย่าปล่อยให้ "วงการภาพยนตร์ไทย" ดิ้นรนต่อสู้ตามยถากรรม และโรงหนังควรเป็นพระเอกมากกว่าผู้ร้าย ร่วมกันเช่นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวเดินพ้นวิกฤติไปได้

...

บทความที่เกี่ยวข้องกับ soft power ทั้งหมด

บทความของนิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด