ผู้ผลิต 75% จ่อขึ้นราคาสินค้า แบกรับต้นทุน “ค่าไฟ-ดอกเบี้ย”
กกร.คาดครึ่งปีหลังส่งออกกลับมาขยายตัว เศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัว ชี้ยังต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุน สำรวจพบผู้ประกอบการ 76% เตรียมปรับขึ้นราคา ส่วนใหญ่ขึ้น 5-10%
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาต่อเนื่องและมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ในปี 2566 และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก
ในขณะที่ภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนระยะต่อไป
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจรายเดือน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยว่า กกร.มองภาพเศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัวโดย GDP ของจีนและสหรัฐในไตรมาส 1 ต่างขยายตัว จากภาคบริการที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตที่ชะลอตัวตลอดไตรมาส 1 เริ่มปรับตัวดีขึ้นในตลาดสหรัฐ ซึ่งแม้ว่ายังเผชิญปัญหาสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนมากนัก
ทั้งนี้ สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลักมองว่าเป็นผลต่อภาคการส่งออกไทย ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
“อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยกดดันจากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มอาจปรับตัวลดลงช้ากว่าที่คาดไว้เนื่องจากราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด”
ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าอีก 5-10% เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนค่าไฟซึ่งอยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท ต่อไปในระยะข้างหน้า และทำให้ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุม กกร.ครั้งนี้มีการรายงานสถาการณ์เศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งระบุถึงผู้ประกอบการ 75% มีแนวโน้มขึ้นราคาสินค้าในระยะข้างหน้า โดยสถานการณ์ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและรอการส่งผ่านขึ้นราคาสินค้า
นอกจากนี้ มีการรายงานผลสำรวจราคาสินค้าที่สำรวจ 3 ช่วง ระหว่างวันที่ 17 ม.ค.-26 มี.ค.2566 โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการประเมินต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับราคาสินค้า พบว่า
ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไม่เกิน 40% มีสัดส่วน 40%
ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนแล้ว 10-20% มีสัดส่วน 31%
ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนสู่ราคาสินค้าแล้ว มีสัดส่วน 21%
ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนแล้ว 21-30% มีสัดส่วน 7%
ส่วนแนวโน้มการปรับราคาในอีก 3 เดือน ข้างหน้า พบว่า
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับราคาไม่เกิน 5% มีสัดส่วน 43%
ผู้ประกอบการปรับราคาขึ้น 6-10% มีสัดส่วน 26%
ผู้ประกอบการไม่ปรับราคา มีสัดส่วน 24%
ผู้ประกอบการรับราคาขึ้น 11-20% มีสัดส่วน 7%