เจาะกำไรหมื่นล้าน ‘การบินไทย’ มาจาก ‘ดำเนินธุรกิจ’ หรือ ‘กำไรพิเศษ’ ?
แกะผลประกอบการ “การบินไทย” หลังพลิกทำกำไรหมื่นล้านในไตรมาส 1 จนสร้างความประหลาดใจทั้งต่อบรรดาผู้ถือหุ้นและคนไทยจำนวนไม่น้อย แล้วผลกำไรที่ประกาศล่าสุด มาจากการดำเนินธุรกิจที่สะท้อนการฟื้นตัวจริง หรือเป็นกำไรพิเศษที่ไม่ยั่งยืนแอบแฝง?
Key Points
- ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 6.5 ล้านคน ขยายตัว 1,202.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- การบินไทยพลิกมามีกำไร 12,514 ล้านบาท เติบโตขึ้น 485% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 271.2%
- ภาพรวมการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสเงินสดการบินไทยพอกพูนขึ้นมาที่ 3.5 หมื่นล้านบาท
“การบินไทย” บริษัทสายการบินของไทยซึ่งเคยเกือบล้มละลายจนต้องฟื้นฟูกิจการ มีหนี้สินมหาศาล ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ ปรากฏว่า พลิกขึ้นมามีกำไรสุทธิถึง 12,514 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 485% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
คำถามที่น่าสนใจต่อมา คือ กำไรที่พลิกขึ้นมาเหนือความคาดหมายนี้ เป็นกำไรจากธุรกิจจริงหรือกำไรพิเศษ และปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้การบินไทยพลิกขึ้นมาทำกำไรได้
- การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า (เครดิต: Thai Airways) -
เมื่อเข้าไปดู “งบการเงินบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อย ไตรมาสแรก ปี 2566” จะพบว่า
- รายได้รวม 41,507 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 11,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.2%
- ค่าใช้จ่ายรวม 28,473 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 14,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98.4%
ในส่วนกำไรที่ทำได้ การบินไทยมีทั้งกำไรจากการดำเนินงาน และกำไรพิเศษด้วย โดยแบ่งได้ดังนี้
- ส่วนกำไรจากการดำเนินธุรกิจจริง หลังหักต้นทุนทางการเงินแล้ว พลิกมามีกำไรที่ 9,485 ล้านบาท จากปีที่แล้วขาดทุนไป 5,359 ล้านบาท สะท้อนว่า การบินไทยสามารถทำกำไรจากการจำหน่ายตั๋วสายการบิน โหลดสัมภาระใต้เครื่อง และการขนส่งสินค้าได้แล้ว
- ส่วนกำไรพิเศษของการบินไทย ก็มาจาก 3 รายการหลัก ดังนี้
1. กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ของการบินไทยช่วยลดหนี้ให้ เปรียบเหมือนมีรายได้ฟรีเข้ามา กลายเป็นกำไรขึ้นมา 2,640 ล้านบาท
2. กำไรจากการขายสินทรัพย์ 363 ล้านบาท ประกอบด้วยการขายเครื่องบิน B747-400 จำนวน 1 ลำ มูลค่า 9 ล้านบาท และขายสินทรัพย์อื่น ๆ อย่างห้องชุดพักอาศัย อาคารสำนักงานที่ต่างประเทศและอื่น ๆ รวม 354 ล้านบาท
3. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 115 ล้านบาท
รวมกำไรพิเศษจาก 3 รายการหลักนี้ก็เป็น 3,118 ล้านบาท
เมื่อรวมกำไรจากการดำเนินธุรกิจจริง 9,485 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรส่วนใหญ่ของการบินไทย กับกำไรพิเศษ 3,118 ล้านบาทแล้ว พร้อมหักรายการเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ก็ทำให้การบินไทยมีกำไรสุทธิที่ 12,514 ล้านบาท
- เก้าอี้โดยสารในการบินไทย (เครดิต: Thai Airways) -
อะไรทำให้การบินไทยพลิกมามีกำไร
หลังจากที่ทางการไทยใช้มาตรการเข้มงวดคุมการระบาดโควิด-19 จนสถานการณ์การแพร่ระบาดบรรเทาลงระดับหนึ่ง รัฐบาลจึงเริ่มเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 และยิ่งไปกว่านั้น ทางจีนก็ปรับนโยบายจากโควิดต้องเป็นศูนย์ เป็นใช้ชีวิตร่วมกับโควิดได้ ส่งผลให้การบินไทยสามารถเปิดเส้นทางบินสู่ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย จีน และทั่วโลก
ความอัดอั้นของผู้คนหลายประเทศที่ปิดประเทศมายาวนานที่ผ่านมาได้ระเบิดออก สะท้อนผ่านตัวเลขในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยรวม 6.5 ล้านคน ขยายตัว 1,202.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สิ่งนี้ทำให้การบินไทยมีจำนวนเที่ยวบินถี่ขึ้น นำมาซึ่งกระแสเงินสดที่พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน
- เส้นทางของการบินไทยมีความหลากหลายมากขึ้น (เครดิต: Thai Airways) -
ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รักษาการรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวนสะสม 8,596,452 คน สร้างรายได้แล้วกว่า 353,331 ล้านบาท สะท้อนว่าไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด เนื่องจากการบินไทยพลิกขึ้นมามีกำไรครั้งแรกได้ ประกอบกับกระแสเงินสดที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ระยะเวลาฟื้นฟูกิจการอาจสิ้นสุดเร็วก่อนกำหนด โดยชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทการบินไทยแถลงข่าวว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่ากำหนดเดิมปลายปี 67 และขณะนี้แผนฟื้นฟูได้ดำเนินการมา 70% แล้ว
- ชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอบริษัทการบินไทย -
ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 66 ซีอีโอการบินไทยมั่นใจว่า จะมีรายได้รวมประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท จากอัตราบรรทุกผู้โดยสารที่ปัจจุบันพุ่งสูง 80% และคาดการณ์ว่าผู้โดยสารทั้งปีมีจำนวนราว 9 ล้านคน
อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา การบินไทยได้นำ “สายการบินไทยสมายล์” กลับเข้ามาควบรวมกับบริษัทอีกครั้ง พร้อมโอนย้ายพนักงานกว่า 800 คนจากไทยสมายล์เข้าการบินไทย เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและลดต้นทุน
ซีอีโอการบินไทยเสริมอีกว่า หากช่วงกลางปี 2566 ผลการดำเนินงานยังคงบวกต่อเนื่อง การบินไทยอาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาสินเชื่อใหม่ ช่วยให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนกำหนด และกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นได้เร็วขึ้น
อ้างอิง: set, thaigov, thaigov(2), thansettakij, dailynews, bangkokbiznews