บทเรียน 'ตกแต่งบัญชี' ในจีน 'Luckin Coffee' ร้านกาแฟดัง ปลอมยอดขายเกินจริง
นอกจากจากกรณีหุ้น STARK ที่มีการ "ตกแต่งบัญชี" ยังเคยเกิดกรณีฉาวคล้ายกันกับ “Luckin Coffee” เชนร้านกาแฟดังในจีนที่เคยถูกมองว่าอาจขึ้นมาเทียบชั้น Starbucks ได้ กรณี Luckin มีที่มาที่ไปอย่างไร และเผชิญบทลงโทษอย่างไรบ้าง
Key Points
- Luckin Coffee ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยเจนนี จื้อย่า เฉียน ซึ่งเคยทำงานที่บริษัท CAR Inc. บริการเช่ารถรายใหญ่ และบริษัท UCAR แพลตฟอร์มเรียกรถมาก่อน
- ความคาดหวังของนักลงทุนต่อ Luckin Coffee ส่งให้ราคาหุ้นพุ่งไปสู่ราคาสูงสุดที่ 51.38 ดอลลาร์เมื่อช่วง ม.ค. 2563 หรือเพิ่มขึ้น 202% จากราคา IPO ที่ 17 ดอลลาร์
- ปี 2563 ทางการสหรัฐตรวจพบว่า Luckin Coffee มีการตกแต่งบัญชีส่วนรายได้ในไตรมาส 2-4 ของปี 2562 ให้สูงเกินจริงไป 310 ล้านดอลลาร์หรือราว 1 หมื่นล้านบาท
จากกรณีอื้อฉาวของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ธุรกิจขายสายไฟและสายเคเบิลเป็นหลักที่มีการตกแต่งบัญชี ย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่คล้ายกันอย่าง “Luckin Coffee” เชนร้านกาแฟรายใหญ่ในจีน ที่ถูกเทียบชั้นเป็นคู่แข่งกับ “Starbucks” ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ
บริษัทดาวรุ่งรายนี้มีรายได้เติบโตและขยายสาขาอย่างรวดเร็วในจีน และมีแนวโน้มขึ้นมาแซงหน้าคู่แข่งอย่าง Starbucks ในตลาดจีน จนหลายฝ่ายต่างตั้งฉายาว่า “Starbucks แห่งแดนมังกร” อีกทั้งยังเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐด้วย
แต่สุดท้ายแล้ว บริษัทนี้ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ พร้อมจ่ายค่าปรับมหาศาล ผลจากการปลอมแปลงรายงานงบการเงิน
- กาแฟ Luckin Coffee (เครดิต: Luckin Coffee) -
- จุดเริ่มต้นธุรกิจ Luckin Coffee
เริ่มแรกบริษัท Luckin Coffee ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยผู้บริหารหญิงที่ชื่อว่า เจนนี จื้อย่า เฉียน (Jenny Zhiya Qian) ซึ่งเคยทำงานที่บริษัท CAR Inc. บริการเช่ารถรายใหญ่ และบริษัท UCAR แพลตฟอร์มเรียกรถมาก่อน
- เจนนี จื้อย่า เฉียน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Luckin Coffee (เครดิต: wiki.mbalib) -
จากนั้น เธอใช้ประสบการณ์ด้านการขนส่งที่ผ่านมา ปั้นบริษัท Luckin Coffee ไม่ว่าจะเป็นการบริการส่งกาแฟถึงที่ ลูกค้าซื้อกาแฟผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที ไม่ต้องใช้เงินสด มีโปรโมชันลดแลกแจกแถมอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นบริษัทเติบใหญ่ มีสาขามากมายจนกำลังขึ้นมาแซงหน้า Starbucks ซึ่งในปี 2562 จำนวนสาขา Luckin Coffee มีจำนวนมากกว่า 3,600 แห่ง
- แอปฯ Luckin Coffee สั่งกาแฟ (เครดิต: Luckin Coffee) -
ความใฝ่ฝันของเธอได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเธอพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐได้สำเร็จ ซึ่งราคาหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ในขณะนั้นคือ 17 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ความคาดหวังของเหล่านักลงทุนที่มองว่า Luckin Coffee จะกลายเป็นบริษัทระดับโลกที่อาจขึ้นมาเทียบชั้น Starbucks ได้ เป็นแรงส่งให้ราคาหุ้นพุ่งไปสู่ราคาสูงสุดที่ 51.38 ดอลลาร์เมื่อช่วง ม.ค. 2563 หรือเพิ่มขึ้น 202% จากราคา IPO ที่ 17 ดอลลาร์
- กาแฟ Luckin Coffee เป็นที่นิยมในจีน (เครดิต: Luckin Coffee) -
- ถูกจับได้ว่า “ปลอมแปลงงบการเงิน”
อย่างไรก็ตาม ความฝันของเธอดับสลายลง เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2563 ทางการสหรัฐตรวจพบว่าบริษัท Luckin Coffee มีการตกแต่งบัญชีส่วนรายได้ในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ของปี 2562 ให้สูงเกินจริงไป 310 ล้านดอลลาร์หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นจึงร่วงลงสู่ราคา 4.9 ดอลลาร์ต่อหุ้นอย่างรวดเร็ว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ สั่งลงโทษบริษัท Luckin Coffee ด้วยการถอดออกจากตลาดหุ้น พร้อมปรับเงินสูงถึง 180 ล้านดอลลาร์หรือราว 6,200 ล้านบาทในเดือน ธ.ค. 2563
ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน ก.ย. 2563 ทางการจีนได้สั่งปรับบริษัท Luckin Coffee พร้อมบริษัททุจริตอื่น ๆ ของจีนอีก 44 บริษัท รวมเป็นค่าปรับทั้งสิ้น 61 ล้านหยวนหรือราว 300 ล้านบาท
ขณะที่บอร์ดบริหารของบริษัท Luckin สั่งปลดเจนนี จื้อย่า เฉียน ออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และเจี้ยน หลิว (Jian Liu) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ออก
ต่อจากนั้น บริษัทได้แต่งตั้ง จิ่นอี้ กัว (Jinyi Guo) อดีตรองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Luckin Coffee แทนจนถึงปัจจุบัน โดยจิ่นอี้ กัวได้ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ พร้อมจ้างทีมกฎหมายภายนอกมาตรวจสอบบริษัทเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปลอมแปลงรายงานงบการเงินอีก
ปัจจุบัน ณ เดือน มิ.ย. 2566 ร้านกาแฟ Luckin Coffee ได้ขยายสาขาเพิ่มเป็น 10,000 แห่งทั่วประเทศจีนแล้ว และกลับมามีกำไรสุทธิช่วงปี 2565 สูงถึง 1,150 ล้านหยวน (ประมาณ 5,500 ล้านบาท) ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 564.8 ล้านหยวน (ประมาณ 2,700 ล้านบาท)
แม้กรณีอื้อฉาวจากการตกแต่งบัญชีจะมาจากบริษัท Luckin Coffee เจ้าเดียว แต่เรื่องนี้ทำให้ก.ล.ต.สหรัฐหันมาจับตาบริษัทจีนมากขึ้น รวมถึงการระดมทุนของบริษัทจีนในสหรัฐก็ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม เรียกได้ว่า กรณี Luckin Coffee เจ้าเดียว ทำให้บรรดาบริษัทจีนที่ดีต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทจีนในเวทีโลกและในประเทศ นี่จึงเป็นหลักสำคัญว่า การบริหารบริษัทเพื่อสร้าง “ผลกำไร” จำเป็นต้องควบคู่กับ “ธรรมาภิบาล” ด้วย
อ้างอิง: barrons, cnbc, reuters, reuters(2), scmp, reuters