ไขปริศนา ‘ภาคแรงงานสหรัฐ’ ทำไมยังแกร่ง แม้ ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยสูง
แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 5.5% แล้ว แต่ “ภาคแรงงานสหรัฐ” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของเงินเฟ้อยังคงร้อนแรง จึงเป็นคำถามตามมาว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงมากแล้ว แต่เหตุใดการจ้างงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
Key Points
- ตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐที่ยังคงเข้มแข็ง และเศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโต ทำให้การกดเงินเฟ้อไปสู่เป้าหมายที่ 2% ของเฟดเผชิญความท้าทายมากขึ้น
- ดร.กอบศักดิ์ มองว่า โดยปกติแล้ว เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงเช่นนี้แล้ว ตัวเลขแรงงานควรอยู่ในระดับศูนย์ คือ ไม่จ้างงานแล้ว หรือว่าติดลบแทน แต่ตัวเลขแรงงานของเดือน มิ.ย. กลับอยู่ในระดับราว 200,000 ตำแหน่ง สะท้อนว่าเศรษฐกิจ “ยังไม่ตอบสนองดีพอ” ต่อนโยบายเฟด
- “แรงงานสหรัฐ” นับเป็นตัวแปรสำคัญของเงินเฟ้อ เนื่องจากหากตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐยังคงดี ผู้คนย่อมมีรายได้ในการบริโภคสินค้าต่าง ๆ มากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว จึงเป็นตัวเพิ่มเงินเฟ้อขึ้นได้
ทุกครั้งที่เจอโรม พาวเวล (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐและรวมถึงไทยมักจะผันผวนตาม เหตุผลเพราะสหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก และมีการนำเข้าและส่งออกสินค้ากับคู่ค้าไทยจำนวนมาก ดังนั้น เกือบทุกความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐ ย่อมส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไทยได้
เมื่อหันมองท่าทีของเฟดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร หรือเปลี่ยนเป็นลดดอกเบี้ยแทน หลายคนอาจมองเฉพาะ “เงินเฟ้อสหรัฐ” แต่อันที่จริงแล้ว ยังมีตัวแปรสำคัญที่ไม่แพ้กันต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ “ภาคแรงงานสหรัฐ”
แม้ในปัจจุบัน เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงแตะ 5.5% ในเดือน ก.ค. แต่เงินเฟ้อสหรัฐยังค้างอยู่ที่ 4.8% สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมความผันผวนของอาหารสดและพลังงาน อีกทั้งตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐล่าสุดยังคงเข้มแข็ง และเศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโต จน “มุมมองเดิม” ของตลาดที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เปลี่ยนเป็น “มุมมองใหม่” ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะเปลี่ยนเป็น Soft Landing แทน และกลายเป็นความท้าทายของเฟดในการกดเงินเฟ้อให้ลงไปสู่เป้าหมายที่ 2%
ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 22 ปีแล้ว แต่ทำไมภาคแรงงานสหรัฐยังคงเข้มแข็งอยู่ จนอาจเป็น “เชื้อไฟสำคัญ” ที่ทำให้เงินเฟ้อไม่ลงได้โดยง่าย
- ทำไมภาคแรงงานสหรัฐถึงเป็นเชื้อไฟเงินเฟ้อ?
“แรงงานสหรัฐ” นับเป็นตัวแปรสำคัญของเงินเฟ้อ เนื่องจากหากตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐยังคงดี ผู้คนย่อมมีรายได้ในการบริโภคสินค้าต่าง ๆ มากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว และความมุ่งมั่นของเฟดที่ต้องการชะลอเศรษฐกิจเพื่อกดเงินเฟ้อก็จะเผชิญความท้าทายได้ ดังนั้น ถ้าตัวเลขแรงงานสหรัฐยังดีอยู่ ก็อาจเป็นเรื่องยากที่เฟดจะถอยการขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับตัวเลข “การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ” (U.S. Nonfarm Payrolls) ในเดือน มิ.ย. คือ 209,000 ตำแหน่ง และเดือน ก.ค. ล่าสุด คือ 187,000 ตำแหน่ง ซึ่งแม้จะลดลง แต่ยังอยู่ในช่วงตัวเลขที่สะท้อนว่า “ภาคแรงงานสหรัฐยังคงเข้มแข็ง”
ยิ่งไปกว่านั้น รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings) ของเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 4.4% จากปีที่แล้ว
ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ก.ค. ลดลงไปที่ 3.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% ซึ่ง 2 ตัวเลขนี้สะท้อนว่าการจ้างงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
บิล อดัม (Bill Adams) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทให้บริการทางการเงินสหรัฐ Comerica ให้ความเห็นต่อตัวเลขตลาดแรงงานเดือน ก.ค. ว่า “ตลาดแรงงานแข็งแกร่งมาก ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูงกว่าเป้าหมายเฟด จึงมีแนวโน้มมากกว่า 50% ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลังนี้”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพแสดงความเห็นในรายการ “จับตาเฟดทำสงคราม ดอกเบี้ยต่อปีหน้า?!” ของช่อง Money Chat Thailand เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2566 ว่า “ตัวเลขการจ้างงานราว 200,000 ตำแหน่งที่ออกมาของเดือน มิ.ย. เป็นระดับตัวเลขที่สามารถเห็นได้ในช่วงปกติของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเฟดอาจตั้งคำถามว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ 0 ถึงระดับ 5.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 22 ปีแล้ว แม้ตลาดแรงงานจะเบาลงบ้าง แต่มีข้อน่าสังเกตว่าทำไมตัวเลขแรงงานยังคงอยู่ในช่วงปกติ”
“โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงเช่นนี้ ตัวเลขแรงงานควรอยู่ในระดับศูนย์ คือ ไม่จ้างงานแล้ว หรือว่าติดลบ 200,000 หรือติดลบ 300,000 หรือติดลบ 400,000 ตำแหน่ง คือ ควรต้องมีคนตกงานแล้ว และคนที่ตกงานจะเป็นตัวกดเงินเฟ้อลง ซึ่งเมื่อตัวเลขแรงงานปัจจุบันยังคงคึกคัก สิ่งนี้จึงทำให้เฟดรู้สึกหนักใจ และมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยระดับสูงนี้ต่อไป”
ดร.กอบศักดิ์ เสริมว่า เงินเฟ้อสหรัฐที่ปรับตัวลงล่าสุด ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เงินเฟ้อกลับทิศเป็นขาลงที่จะวางใจได้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้ออาจเป็นลักษณะ 3 วันดี 4 วันไข้ เดือนนี้ลง เดือนหน้าอาจกลับมาขึ้นอีก ดังนั้น เฟดจึงจำเป็นต้องเฝ้าดูต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนพร้อมตัวเลขภาคแรงงานและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ถึงจะตัดสินได้ว่า ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่
- ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล (เครดิต: สภาธุรกิจตลาดทุนไทย) -
ยิ่งไปกว่านั้น Automatic Data Processing (ADP) ผู้ให้บริการการจัดการทรัพยากรบุคคลของสหรัฐ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ (U.S. Private Payrolls) เพิ่มขึ้น 324,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง โดยได้แรงสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของตัวเลขจ้างงานในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ในไตรมาส 2 ขยายตัว 2.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.8% และสูงกว่า GDP ในไตรมาส 1 ที่ 2% สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว จึงทำให้การกดเงินเฟ้อให้ลง มีความท้าทายมากขึ้น
- เหตุผลที่ภาคแรงงานสหรัฐยังคงแข็ง
สำนักข่าว The Wall Street Journal สอบถามความคิดเห็นของเหล่าผู้บริหารหลายบริษัทในสหรัฐเมื่อเดือน ก.ค. ถึงเหตุผลว่า แม้ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้นมาก จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ทำไมหลายบริษัทกลับเลือกรักษาพนักงานไว้ ไม่ได้เลิกจ้างจำนวนมากอย่างที่บรรดานักวิเคราะห์คาด
เริ่มจากบริษัทแรก VendingONE บริษัทตู้ขายอาหารและเครื่องดื่มอัตโนมัติในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้เหตุผลว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ช่วงการระบาดของโควิด-19 บริษัทปลดพนักงานลง 50% และเมื่อยอดขายกลับมา บริษัทก็กลับมาจ้างพนักงานเพิ่ม
แม้ในปัจจุบัน ยอดขายของบริษัทจะลดลงและลูกค้าก็กังวลถึงเศรษฐกิจถดถอยจนลังเลที่จะต่อสัญญา แต่ VendingONE กลับเลือกเก็บพนักงานไว้ พร้อมกับให้ฝึกทำหน้าที่หลายอย่างในคนเดียว และฝึกให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน
- ตู้ VendingONE (เครดิต: VendingONE) -
นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวกำลังใช้ซอฟต์แวร์สำหรับกำหนดตารางเวลาเติมสินค้าในตู้หรือเข้าซ่อมแซม ทำให้พนักงานใช้เวลางานบนท้องถนนน้อยลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนของบริษัท อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีมาบริหารสินค้าในตู้ในแต่ละทำเลว่า ควรมีปริมาณมากเท่าไร เพื่อลดของเสียตกค้าง
แบร์รี โรเซนเบิร์ก (Barry Rosenberg) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท VendingONE กล่าวว่า “พวกเราพยายามทำให้การบริหารเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างพนักงาน ถ้าเป็นไปได้”
จากผลสำรวจบรรดาผู้ประกอบการ 670 คนในสหรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย. โดย Vistage Worldwide ซึ่งเป็นบริษัทฝึกสอนผู้บริหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า มีเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กเพียง 7% เท่านั้นที่ตั้งใจลดพนักงานในปีนี้ หมายถึง บริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่ลังเลที่จะเลิกจ้างพนักงาน เพราะความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันและการจ้างพนักงานใหม่ที่มีทักษะคล้ายคนเดิม หรือแม้แต่การฝึกพนักงานใหม่อีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาและเพิ่มต้นทุน หลายบริษัทจึงเลือกเก็บพนักงานที่มีอยู่ไว้มากกว่าลดพนักงานลง
ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจโดย Vistage Worldwide เมื่อเดือน มิ.ย. ระบุว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ใช้หลายแผนในการลดต้นทุนบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การหาซัพพลายเออร์ใหม่ที่ให้ราคาสินค้าต่ำกว่า การชะลอการจ้างพนักงานใหม่ การลดค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด และตัดขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้สร้างกำไรออกไป
การลดต้นทุนเหล่านี้ ทำให้บริษัทสามารถทนต่อเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง โดยไม่ต้องปลดพนักงานและรอให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
อีธาน คาร์ป (Ethan Karp) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Magnet องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งให้บริการช่วยเหลือทางเทคนิคแก่บริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ ในรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า “บรรดาผู้ประกอบการต่างตระหนักว่า การปลดลูกจ้างเมื่อช่วงหลายปีก่อนเป็นเรื่องน่าเจ็บปวด และจะต้องเจ็บปวดอีกเมื่อทาบทามคนกลุ่มนี้ให้กลับมาร่วมงานกันใหม่”
แลร์รี แอนเดอร์สัน (Larry Anderson) ซีอีโอบริษัทก่อสร้าง Anderson Construction ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยว่า เตรียมแผนรับมือบางโครงการก่อสร้างที่อาจล่าช้าออกไปจากภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เขาลดการซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างลง ชะลอการจ้างพนักงาน และลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน
ถึงอย่างนั้น แอนเดอร์สันก็ยังหาวิธีทำให้ลูกจ้าง 30 คนของเขายุ่งอยู่เสมอ แม้ว่าธุรกิจจะมีลูกค้าลดลงก็ตาม
“พวกเราพยายามรักษาพนักงานไว้ พวกเราจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้าง เพราะการเลิกจ้างและฝึกพนักงานใหม่ มีต้นทุนที่สูงกว่า” แอนเดอร์สันกล่าว
นอกจากนี้ การขนส่งทางรถไฟแห่งสหรัฐ (U.S. Freight Railroads) ตัดสินใจเก็บพนักงานไว้ แม้ว่าความถี่การขนส่งจะลดลงก็ตาม โดยผู้บริหารการรถไฟระบุว่า เมื่อช่วงการระบาดใหญ่โควิด-19 การรถไฟได้เลิกจ้างพนักงานลง และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ความต้องการใช้บริการขนส่งกลับมา ทางบริษัทจึงจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความต้องการที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าจำนวนบุคลากรที่หาเพิ่มได้ จึงทำให้การบริการขนส่งสะดุด และทำให้การรถไฟขาดรายได้ ถือเป็นบทเรียนว่าการเลิกจ้างพนักงานโดยไม่ได้มีแผนรองรับ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่แรงงานจะไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ฟื้นกลับมาในอนาคต
- การขนส่งทางรถไฟแห่งสหรัฐ (เครดิต: Freepik) -
ไม่เว้นแม้แต่ Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และผู้ผลิตมือถือ iPhone ก็พยายามหลีกเลี่ยงการลดพนักงาน โดยทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอบริษัท Apple เผยว่า “ผมมองว่าการเลิกจ้าง ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เราจะพยายามลดต้นทุนในทางอื่นให้ได้มากที่สุดก่อน”
กล่าวโดยสรุป คือ เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง และจะกลายเป็นตัวกดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดสะท้อนว่า เศรษฐกิจยังไม่ชะลอตัวลงอย่างที่เฟดคาดหวังไว้ การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง จึงอาจทำให้นโยบายเฟดต่อจากนี้ ยังคงเป็นการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงนี้ต่อไปก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน เหตุผลที่บริษัทต่าง ๆ เลือกไม่ปลดพนักงานออก เพราะหลังจากผ่านช่วงมรสุมโควิด-19 หลายบริษัทมีการปรับตัวที่เก่งขึ้น และตระหนักว่าการปลดพนักงานออก และกลับมาจ้างคนใหม่ในความสามารถแบบเดิมนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย รวมถึงการต้องฝึกพนักงานใหม่อีกครั้งต้องใช้เวลา ดังนั้น หลายบริษัทจึงเลือกรักษาพนักงานเดิมไว้และลดต้นทุนในส่วนอื่นแทน
อ้างอิง: youtube bloomberg bloomberg(2) wsj wsj(2) wsj(3) wsj(4) cnbc cnbc(2)