'ศก.ไทย'ทรุดหนัก!! รับ‘นายกฯคนใหม่’
หากไม่ว่าใครก็ตาม ที่กำลังได้รับมอบหมายให้เข้ามาบริหารประเทศ เราไม่มีเวลาให้พวกท่านฮันนีมูนใดๆ มีแต่ ‘โจทย์ใหญ่’ ของประเทศ ที่ต้องรีบเข้ามาแก้ไขและเยียวยาเศรษฐกิจในทันที
เป็นเรื่องที่ช็อก!! พอสมควร เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงอย่างชัดเจนจากการขยายตัวที่ 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ นับเป็นตัวเลขที่ผิดไปจากการคาดการณ์ของตลาดค่อนข้างมาก
ขณะที่ตัวเลขการขยายตัวเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส ขยายตัวเพียง 0.2% หรือเรียกได้ว่า แทบจะไม่ขยาย
คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ทำไมถึงชะลอตัวชัดเจนขนาดนี้
เศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.8% สศช.รายงานว่า มาจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง 5.6% ติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาสต่อเนื่องกัน รวมทั้งดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยลดลง 5.4% เช่นเดียวกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.1% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
ขณะที่การอุปโภคภาครัฐลดลง 4.3% จากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ลดลงในช่วงโควิด-19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตามการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 7.8% ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 5.8%
เราจะเห็นว่าตัวเลขด้านเศรษฐกิจทุกตัว ดูไม่ค่อยดีนัก และเป็นแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นโจทย์ใหญ่และยากของรัฐบาลใหม่ ต้องรีบเข้ามาบริหารจัดการ และออกมาตรการบางอย่างเพื่อพลิกฟื้นและกระตุ้นให้ตัวเลขดีขึ้น
การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีเสถียรภาพ แก้ปัญหาให้ตรงจุด สศช. มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง กระทบการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวด้วย
ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการขยายตลาด และเพิ่มการส่งออกในตลาดที่มีศักยภาพ
ขณะเดียวกัน ต้องเร่งดึงลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่ตรงอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำเพื่อเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการบริหารเศรษฐกิจระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ เพราะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่มีปัญหาทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน อาจลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ก็ต้องอย่าประมาท
วันนี้สถานการณ์การเมืองไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน เดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี...
แต่หากไม่ว่าใครก็ตาม ที่กำลังได้รับมอบหมายให้เข้ามาบริหารประเทศ เราไม่มีเวลาให้พวกท่านฮันนีมูนใดๆ มีแต่ ‘โจทย์ใหญ่’ ของประเทศ ที่ต้องรีบเข้ามาแก้ไขและเยียวยาเศรษฐกิจในทันที