'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' กว่า 99% พอใจสวัสดิการ - อยากให้มีต่อเนื่อง

'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' กว่า 99% พอใจสวัสดิการ - อยากให้มีต่อเนื่อง

ปลื้ม ! ผลดำเนินการโครงการ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" พบผู้ใช้และวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค สูงสุดมีอัตราสูงสุดกว่าร้อยละ 99 พบพอใจในสวัสดิการทุกรายการในระดับมาก และต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง

วันนี้ (23 ส.ค.66)  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มี "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี 2565 สรุปผลได้ ดังนี้ 

ผลการดำเนินงาน 

  • ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค   

- วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.21 และอัตรามูลค่าการใช้ร้อยละ 99.92

- วงเงิน 300 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.68 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.91

  • ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม

- วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 24.48 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.75

  • ค่ารถโดยสารสาธารณะ

- รถไฟ วงเงิน 500  บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 0.37 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิเร้อยละ 52.26   

- บขส. วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 0.10 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 85.83

- ขนส่งในเขต กทม. และปริมณฑล วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 10.05 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 33.02

  • ค่าสาธารณูปโภค

- ค่าไฟฟ้า วงเงิน315บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 7.98 

- ค่าน้ำประปาวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 2.24                  

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิค่าซื้อสินค้าอุปโภคสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วงเงินเกือบเต็มจำนวนในคราวเดียว รองลงมาคือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ขณะที่ สวัสดิการค่าโดยสารรถสาธารณะ มีจำนวนผู้ใช้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดประเภทรถโดยสารที่ใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนน้อย  รวมทั้งยังมีการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสาร

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรืยัง กล่าวถึง รายงานความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการว่า  แบ่งเป็นผลประโยชน์ทางตรงที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพและภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.26 ล้านคน

โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในเขต กทม. ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน ขณะที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 1,830-1,930 บาท/คน/เดือน รวมมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 46,930.81 ล้านบาท   

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม มีการใช้จ่ายเงินกองทุนประชารัฐฯ ที่เป็นวงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภค อุปโภคที่จำเป็น 43,303.15 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคเอกชน 75,347.48 ล้านบาท และความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ

โดยผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนอยู่ 26,303.24 ล้านบาท  ทั้งจากการช่วยลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนและเข้าสู่ เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง  

นางสาวรัชดา ยังกล่าวถึงผลการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มี "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ จานวน 11,105 ราย ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-30  ต.ค. 2565  พบว่า กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นผู้ว่างงาน ผู้ไม่มีรายได้ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในสวัสดิการมากที่สุด และเห็นว่าสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้   

ส่วนรูปแบบสวัสดิการที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แต่อยากให้เพิ่มวงเงินสวัสดิการ โดยเฉพาะวงเงินการซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า รวมถึงต้องการได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายได้   

ทั้งนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความพึงพอใจในสวัสดิการทุกรายการในระดับมากและมีความพึงพอใจกับโครงการลงทะเบียนฯ และต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป