ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค : กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค : กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรณีเบี้ยผู้สูงอายุ กลายเป็นเรื่องต่างคนต่างมุมมอง ตัดสินยากว่าหลักการใดถูกที่สุดหรือผิดที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกหลักการไหนเป็นหลักคิดในการอธิบายความ ฉะนั้น มาปูพื้นด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุก่อน

1.สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 20 ของประชากร ปัจจุบันเรามีจำนวนผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของประชากร ขาดอีกประมาณ 720,000 คน จะแตะร้อยละ 20

2.ย้อนหลังไป 2-3 ปี พบว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 400,000 คน ถ้าเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี 2567

3.หากนับกรุงเทพฯ เป็น 1 จังหวัด จาก 77 จังหวัด พบว่า 29 จังหวัด เป็นจังหวัดสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว เรียงจากสัดส่วนมากไปน้อย ดังนี้ ลำปาง (ร้อยละ 26.6) แพร่ ลำพูน สิงห์บุรี ชัยนาท สมุทรสงคราม พะเยา อ่างทอง อุตรดิตถ์ สุโขทัย

พิจิตร น่าน นครสวรรค์ สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครนายก กรุงเทพฯ พิษณุโลก ลพบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ราชบุรี พัทลุง เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ นนทบุรี จันทบุรี และเชียงราย (ร้อยละ 20.0)

4.จำนวนผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600, 700, 800 และ 1,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 6.5, 3.0, 1.2 และ 0.2 ล้านคน ตามลำดับ จะเห็นว่าผู้สูงอายุช่วง 60-69 ปี (ร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุ) รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอัตราต่ำสุดของขั้นบันได คือ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

5.ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 11 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 82,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนเกือบร้อยละ 4 และในปีงบประมาณ 2566 จำนวนคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุน่าจะเพิ่มขึ้นอีก

ทีนี้มาดูหลักการที่หยิบยกขึ้นมาเถียงกันในเวลานี้ คือ “ความเท่าเทียม” และ “ความเสมอภาค”

1.หลักความเท่าเทียม (Equality) มุ่งไปที่การปกป้องสิทธิเป็นหลัก หรือเป็นการมองที่ต้นทาง ถ้านาย ก.ได้เงิน 600 บาท นาย ข.ควรจะได้ 600 บาท เท่ากัน ไม่มีเหตุผลที่นาย ก.จะได้รับเงินน้อยกว่านาย ข. แปลความก็คือทุกคนควรได้เท่ากันหมด หลายคนเรียกแบบนี้ว่าสวัสดิการถ้วนหน้า

ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค : กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

2.หลักความเสมอภาค (Equity) มุ่งไปที่การเติมเต็มสิทธิเป็นหลัก หรือเป็นการมองที่ปลายทาง เพื่อให้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์เท่ากัน เป็นการปิดช่องว่างที่แต่ละคนมีฐานะไม่เท่ากัน ถ้านาย ก.มีรายได้ 600 บาท ส่วนนาย ข.มีรายได้ 400 บาท และสมมติว่า 600 บาท เป็นอัตราที่เหมาะสม

แปลว่า นาย ก.จะได้รับ 0 บาท ในขณะที่นาย ข.จะได้รับเพิ่ม 200 บาท แปลความก็คือทุกคนจะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานะ แต่สุดท้ายทุกคนจะแตะระดับที่เหมาะสม แบบนี้ผมเรียกว่าสวัสดิการตามความเหมาะสมเฉพาะกลุ่มคน ประเด็นที่ถกเถียงกันก็คือ นาย ก.ควรจะได้รับ 600 บาทเหมือนเดิมหรือไม่? แล้วนาย ข.ควรจะได้รับ 600 บาท หรือ 200 บาท? 

ผมลองตั้งหลักการวิเคราะห์โดยการมองไปที่เป้าหมายหลัก 3 ประการ ก็พอจะเป็นแนวทางได้

1.ความทั่วถึง หลักความเท่าเทียมน่าจะตอบโจทย์มากกว่าเพราะได้ถ้วนหน้า

2.ความมีประสิทธิภาพ หลักความเสมอภาคน่าจะตอบโจทย์มากกว่า เพราะได้เฉพาะคนที่จำเป็นเดือดร้อน

3.ความคุ้มค่า หลักความเสมอภาคน่าจะตอบโจทย์เพราะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าแน่นอน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การเลือกหลักการแบบใด จึงขึ้นอยู่กับว่าเราให้น้ำหนักกับ “แง่มุม” ไหนมากกว่ากัน ซึ่งนักวิเคราะห์แต่ละคนก็ให้ “น้ำหนักของแง่มุม” ที่แตกต่างกัน สมมติเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง เช่น

1.กรณีเรามีงบประมาณเหลือเฟือ สร้างถนน รถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน ดูแลสาธารณูปโภคจำเป็นพื้นฐานในชนบทได้อย่างดีแล้ว ควรตั้งเป้าหมายหลักไว้ที่ความทั่วถึงก่อน แล้วค่อยไปดูประสิทธิภาพและความคุ้มค่า เพราะมีเงินมากพอไม่ต้องคิดมากเท่าไร

2.กรณีเราไม่ได้มีงบประมาณเหลือเฟือ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายจ่ายสวัสดิการต่างๆ อีกมากมาย แถมการจัดเก็บรายได้ก็ไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดด แบบนี้เราควรตั้งเป้าหลักไว้ที่ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าก่อน คือช่วยคนที่จำเป็นเดือดร้อนก่อน

ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค : กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

แล้วทางออกในเรื่องนี้มีรูปแบบไหนบ้าง 

1.แบบขั้นบันไดเดิม ผู้สูงอายุหน้าเดิมและหน้าใหม่ก็เข้าแพลตฟอร์มนี้ คือได้รับ 600, 700, 800 และ 1,000 บาทต่อเดือน งบประมาณที่ใช้ก็จะเติบโตตามจำนวนผู้สูงอายุ แบบนี้ใกล้เคียงหลักความเท่าเทียม

2.แบบขั้นบันไดเดิม แต่ตัดผู้มีรายได้หรือมีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ทางออกนี้สิ่งที่ต้องคิดต่อคือรายได้ที่เพียงพอแก่การยังชีพคือเท่าไร ใช้หลักเกณฑ์ใดตัด แต่แบบนี้จะใช้เงินงบประมาณน้อยที่สุด และใกล้เคียงหลักความเสมอภาค

3.แบบขั้นบันไดเดิม แต่เติมรายได้เฉพาะกลุ่ม ผู้สูงอายุหน้าเดิมและหน้าใหม่ได้รับ 600, 700, 800 และ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นฐานตั้งต้น บวกกับส่วนเพิ่มจากการเป็นผู้มีรายได้น้อยใน “ฐานข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

เช่น ถ้าไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ไม่มีเงินออม ไม่มีคนเลี้ยงดู ก็ให้เพิ่มอีก 200 บาทต่อเดือน เป็น 800, 900, 1,000 และ 1,200 บาทต่อเดือน เป็นต้น ในทางตรงข้าม หากมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี มีเงินออม มีคนเลี้ยงดู ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนเพิ่ม 

แต่ต้องคุยกันว่า “เฉพาะกลุ่ม” นั้น คือใครบ้างและได้ในอัตราใด แบบนี้จะใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นไม่มาก และพบกันครึ่งทางระหว่างหลักความเท่าเทียมและหลักความเสมอภาค

4.แบบใหม่เท่ากันถ้วนหน้า เช่น อัตราอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน แบบนี้ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี สูงกว่าที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันประมาณ 4.9 เท่า ฉะนั้น แบบใหม่เท่ากันถ้วนหน้าจะใช้งบประมาณสูงมาก แบบนี้แม้จะใกล้เคียงหลักความเท่าเทียม แต่จะมีการใช้งบประมาณมหาศาล จำเป็นต้องมีวิธีการหารายได้แบบก้าวกระโดด มิเช่นนั้นจะเป็นภาระทางการคลังสูงมาก

ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่าการตัดสินใจไปทางไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าเรายึดหลักการใด ระหว่างความเท่าเทียมและความเสมอภาค หรือพบกันครึ่งทาง แต่อยากให้พิจารณาถึงเป้าหมาย 3 ประการไว้ด้วย คือ ความทั่วถึง ความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด