ปรับหลักเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 เมื่อความยากจนกลายเป็นเงื่อนไข
จากการที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุด “หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 นั้น มีรายละเอียดสำคัญประการ
หนึ่ง คือ การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
จากเดิมที่เคยกำหนดว่าจะต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น บำนาญ เบี้ยหวัด และบำนาญพิเศษ
อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดบทเฉพาะกาลว่าผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ยังคงมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพต่อไป
นั่นหมายความว่า หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุที่ประสงค์ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2566 นี้ หรือผู้ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา
ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจเหตุผลของการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งน่าจะมาจากความกังวลเรื่องของงบประมาณ
ปัจจุบัน ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่น้อยนักที่จะพบในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ต่อหัวยังไม่สูง นั่นคือ ปัญหาสังคมสูงวัย ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่ภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำเกิดขึ้นพร้อมกับการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น
จากข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ไทยมีผู้สูงอายุกว่า 12.7 ล้านคน คิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งประเทศ การเป็นประเทศรายได้ปานกลางในขณะที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงและอัตราการพึ่งพิงสูง ทำให้ไทยอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “แก่ก่อนรวย”
เรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยเพราะ “คน” เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากว่าครึ่งศตวรรษ เพราะการเข้าสู่สังคมสังวัยมีผลให้กำลังแรงงานลดลง แต่ยังเกี่ยวข้องกับการจัดสรรสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุ
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไทยดูแลผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า มีกฎเกณฑ์น้อย ไม่ต้องพิสูจน์ยืนยัน และยึดโยงกับอายุเป็นหลัก สภาวะดังกล่าวทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ การเปลี่ยนแปลงการให้สวัสดิการผู้สูงอายุจากแบบถ้วนหน้ามาเป็นแบบเจาะจง จึงอาจช่วยลดภาระทางการคลังในอนาคตลงได้
แม้คำอธิบายข้างต้นจะสมเหตุผลสมผล แต่ต้องไม่ลืมความจริงประการหนึ่งว่า ผู้สูงอายุส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่เกษียณไปพร้อมกับการเป็นแรงงานนอกระบบ ประชากรกลุ่มนี้จึงปราศจากเกราะป้องกันทางสังคมใด ๆ นอกเหนือจากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า รายได้ต่อเดือนจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางเศรษฐศาสตร์ ผลิตภาพแรงงานมีแนวโน้มลดลงตามอายุ ดังนั้น โอกาสของผู้สูงอายุที่จะรักษาระดับรายได้ให้ใกล้เคียงระดับเดิมจึงลดน้อยลงไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ แม้จะไม่ได้ยากจน แต่เป็นไปได้ยากที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
การจำกัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน จึงกระทบต่อสภาพความกินดีอยู่ดีของสังคมในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนั้น การปรับหลักเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนี้เกิดขึ้นในขณะที่ไทยยังไม่มีความพร้อมและยังไม่มีความชัดเจนในทางนโยบายในเรื่องของการทำงานของผู้สูงอายุ (เช่น การขยายอายุเกษียณ การสงวนงานบางอย่างให้กับผู้สูงอายุ)
นั่นหมายความว่า ในขณะที่โอกาสของผู้สูงอายุที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่การดูแลจากรัฐลดน้อยลง ปัญหานี้สะท้อนถึง timing ที่ไม่เหมาะสมของนโยบาย
หากรัฐมีความชัดเจนในเรื่องของการทำงานของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนที่จะตัดสวัสดิการ ไม่เพียงแต่จะทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาสวัสดิการของรัฐลดลง แต่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้สูงอายุว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
ในมุมมองของผู้เขียน ปัญหาหลักของการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 นี้ คือการเอาความยากจนมาปะปนและมาเป็นหลักเกณฑ์ในการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ ปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมสูงวัยเป็นคนละปัญหา มีสาเหตุและมีแนวทางในการแก้ไขที่ต่างกัน
แน่นอนว่าผู้สูงอายุที่ยากจนเป็นกลุ่มคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ประชากรที่สูงอายุแต่ไม่ได้ยากจน และประชากรที่ยากจนแต่ไม่สูงอายุ ไม่สมควรได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์จากการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหา Inclusion and Exclusion error กล่าวคือ มีคนที่ไม่ได้ยากจนตามเกณฑ์ที่กำหนดแต่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ในขณะที่มีคนที่ยากจนอย่างแท้จริงแต่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ปัญหานี้ชี้ให้เห็นถึงความยากในการพิสูจน์ ยืนยัน และตามหาคนจน แม้ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของไทย แต่ความรุนแรงและการแก้ปัญหาไม่ตก
สะท้อนว่าการให้สวัสดิการแบบเจาะจงมีความท้าทายในขั้นตอนของการออกกฎเกณฑ์และการดำเนินโครงการ (Design and implementation)
คำถามสำคัญคือ เหตุใดจึงต้องการให้โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเผชิญความท้าทายในเรื่องของการตามหาผู้สูงอายุเช่นเดียวกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องการตามหาคนจน
ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะ Identify ผู้สูงอายุที่ยากจนอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาเป็นตัวคัดกรองผู้สูงอายุที่ยากจน แนวปฏิบัตินี้มีข้อกังวลคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองไม่ประสบความสำเร็จในการตามหาและให้สวัสดิการแก่คนจน
สะท้อนจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และประมวลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่พบว่า
ในปี พ.ศ. 2564 นั้น กว่า 50.28% ของคนจนที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจน ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น จึงไม่ควร identify คนจน โดยพึ่งพาฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องอาศัยการสำรวจอย่างจริงจังของหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งควรดำเนินการก่อนที่จะออกประกาศปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว
ความกังวลเรื่องของสังคมสูงวัยในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้องค์ความรู้จากงานวิจัยมีจำนวนมากแต่แนวทางของภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุยังมองไม่ครบทุกมุม การเปลี่ยนแปลงการให้สวัสดิการจึงกระทบกับประชาชนจำนวนมาก
ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงภาระพึ่งพิงภายในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น
การปรับหลักเกณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้สูงวัยจึงควรมีความรอบคอบ ระมัดระวัง ถูกต้องตามหลักวิชาการ และคำนึงถึงสวัสดิการสังคมในภาพรวม.