มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯ เผยแพร่ 'หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566'
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ "หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566" มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 69 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 5 และ มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 6 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566”
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ หรือมติอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป)
สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ผู้สูงอายุ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป “เบี้ยยังชีพ” หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า เทศบาล องค์การบริหารส่วนตาบล และเมืองพัทยา “ผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตาบล และนายกเมืองพัทยา
หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ
ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ขณะที่ในหมวด 5 ข้อ 14 ระบุ สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบนี้ สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6
(3) แจ้งสละสิทธิการขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้หากผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน
นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566