การฟื้นตัวของเอเชียในกระเเสการเปลี่ยนแปลงโลก
การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นกระเเสหลักในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ เช่น ภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องประสบ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศในเอเชียก็เช่นกัน
คําถามคือเราควรมองการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นนี้อย่างไรในแง่ผลทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การทํานโยบายที่เหมาะสม
อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมงานสัมมนาของสํานักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสามหรือ AMRO ในประเด็นนี้ ได้ประโยชน์ทั้งข้อมูลและแนวคิด วันนี้จึงขอนำบางประเด็นจากการสัมมนามาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ
สํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม จัดตั้งขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียมีกลไกที่จะสอดส่องดูแลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค
เพื่อลดโอกาสของการเกิดวิกฤติและหรือให้สามารถแก้ไขวิกฤติเมื่อเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ประสบการณ์ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา
สํานักงาน AMRO จัดสัมมนากับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐในภูมิภาคเป็นประจําเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิตย์ที่แล้วจัดที่กรุงเทพ ในหัวข้อ การฟื้นตัวของเอเชียภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงโลก เจาะลึกกรณีประเทศไทย เป็นงานสัมมนาภายใน
มีนักวิชาการจาก AMRO มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการคลัง สํานักวิจัยเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ และผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วม
ภูมิภาคเอเชียขณะนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่เข้มแข็ง คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.3 และ 5.0 ปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างประเทศมีมาก ประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีก็เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ขณะที่ สิงคโปร์ ไทย ฟื้นตัวช้ากว่า
กรณีไทยการฟื้นตัว ณ จุดนี้ยังไม่ถึงระดับการผลิตที่ประเทศเคยทำได้ก่อนโควิด แสดงถึงข้อจำกัดภายในประเทศที่มีมาก
แต่สำหรับทุกประเทศแนวโน้มการฟื้นตัวระยะข้างหน้า อาจชะลอเหตุเพราะแรงปะทะของการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กําลังเกิดขึ้น เช่น ภาวะโลกร้อน ผลของสังคมสูงวัยต่อเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความขัดแย้งของสหรัฐกับจีน
และแนวโน้มที่ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมือง จะกระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในทุกๆด้าน สิ่งเหล่านี้กําลังกระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างช้าๆ (Slow burning) และอาจนำไปสู่การเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้ถ้าการเตรียมตัวและการรับมือของประเทศในภูมิภาคไม่ดีหรือทันเวลาพอ
กรณีของไทย การสัมนนาโฟกัสสองประเด็นคือ ปัญหาประชากรสูงวัย และผลที่ภูมิรัฐศาสตร์จะกระทบความเป็นโลกาภิวัตน์ของการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงไทย บทความวันนี้ขอพูดถึงปัญหาสังคมสูงวัย
สังคมสูงวัยขณะนี้เป็นปัญหาสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก คือ สัดส่วนคนสูงวัยเพิ่มขึ้นในประชากรของประเทศ แต่ก่อนที่จะเป็นสังคมสูงวัย ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประชากรหนุ่มสาว ที่นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ
แต่ปัจจุบันเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ไปแล้วจากการเติบโตของคนหนุ่มสาว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร
สำหรับประเทศที่กําลังก้าวสู่สังคมสูงวัยเช่น จีน ไทย และ เวียดนาม ประโยชน์ที่ประเทศได้จากคนรุ่นหนุ่มสาวก็กําลังลดลง เพราะคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งได้กลายเป็นคนสูงวัย ขณะที่ประชากรวัยเด็กก็มีจํานวนไม่มากพอที่จะทดแทนคนหนุ่มสาว ทำให้ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น
ข้อมูลชี้ว่า ประเทศไทยกําลังเข้าสู่สังคมสูงวัย สัดส่วนคนอายุมากกว่า 65 อาจถึง 20% ช่วงสองปีข้างหน้า และความเป็นสังคมสูงวัยของเราจะยิ่งเร่งตัวในช่วงสิบปีข้างหน้าเมื่อจํานวนประชากรของประเทศลดลงหลังปี 2570
และจากนั้นก็จะลดลงต่อเนื่อง ทําให้สัดส่วนคนสูงวัยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และประโยชน์ที่ประเทศเคยได้จากคนหนุ่มสาวก็จะลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
ลักษณะของการเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัยดังกล่าวจะสร้างปัญหาให้กับประเทศในสามด้าน
1.กําลังแรงงานของประเทศจะลดลงทําให้ผลิตภาพของแรงงานหรือความสามารถที่กําลังแรงงานจะสร้างผลผลิตให้กับประเทศจะลดลงตามไปด้วย กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ
2.การออมที่ไม่เพียงพอของคนสูงวัยที่จะดูแลตนเองหลังเกษียณ ทําให้คนสูงวัยจะเป็นภาระต่อบุตรหลานและรัฐบาล
3.การช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐต่อผู้สูงวัยจะเพิ่มมากขึ้นและอาจสร้างปัญหาต่อฐานะการคลังของประเทศตามมาได้
ผลกระทบทั้งสามด้านนี้เป็นเริ่องที่ทราบกันดี แต่คําถามคือเราพร้อมและเตรียมตัวได้ดีหรือยังที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในสามเรื่อง
1. ต้องมีนโยบายประชากรที่จะเพิ่มกําลังแรงงานของประเทศ โดยมาตรการที่จะเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ คือให้ประชากรหญิงมีลูกมากขึ้น ให้อัตราการเจริญพันธุ์เพิ่มจากระดับ 1.5 ปัจจุบันเป็น 2.1 หรือสูงกว่า
มีมาตรการเพิ่มอายุเกษียณเพื่อให้คนที่มีความสามารถและพร้อมทํางานอยู่ในกําลังแรงงานของประเทศได้นานขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ
2.นโยบายคุ้มครองสังคมที่จะดูแลผู้สูงอายุทั้งในเรื่องรายได้ด้วยเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุ การให้ความมั่นใจในเรื่องการดูแลสุขภาพและสาธารณสุขกับผู้สูงวัย รวมถึงปฏิรูประบบการประกันสุขภาพเพื่อรักษามาตรฐานและการเข้าถึงสำหรับประชากรทุกกลุ่ม
3.มาตรการหารายได้ที่จะให้รัฐบาลมีทรัพยากรเพียงพอที่จะใช้ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลความเพียงพอของระบบประกันสังคมสําหรับประชาชนในวงกว้าง และปรับปรุงการให้บริการทางสาธารณสุข
นี่คือปัญหาและการแก้ปัญหาที่รออยู่ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อจำกัดในทั้งสามเรื่องทําให้ยังไม่มีความพร้อมที่จะดูแลสังคมสูงวัยและปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างดีพอ เป็นความห่วงใยร่วมกันของผู้เข้าร่วมสัมมนา
ประเด็นหลักคือภาครัฐเราไม่มีเงินที่จะทําให้ระบบประกันสุขภาพและการคุ้มครองสังคมทํางานได้อย่างดีพอ เพราะประเทศไม่สามารถระดมทรัพยากรที่ประเทศมีเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างที่ควร ทําให้ประชากรสูงวัยจะเป็นปัญหาสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและะธรรมาภิบาล