บำนาญประชาชน : ความเท่าเทียมไทยเมื่อใดจะไปถึง?!
จากแนวคิดของกระทรวงการคลังที่เสนอทบทวนคุณสมบัติผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ โดยการตัดงบผู้สูงอายุที่มีฐานะ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566 แล้วนั้น
นโยบายดังกล่าวนอกจากจะบรรลุหน้าที่รัฐบาลในเรื่องการกระจายรายได้และความมั่งคั่งของสังคม ยังตอบโจทย์ปัญหาทางการคลังของประเทศ ซึ่งมีภาระงบประมาณในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2566 ประมาณ 80,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังอาจหลงลืมไปว่า ประเด็นความเสี่ยงทางการคลังที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นลำดับแรก คือ งบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จากข้อมูลในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พบว่า
ปี พ.ศ. 2566 งบประมาณในส่วนบำเหน็จบำนาญมีจำนวนมากกว่า 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี พ.ศ. 2557 ที่มีงบส่วนนี้ประมาณ 100,000 ล้านบาท
เป็นที่น่าแปลกใจว่า ประเด็นความจำเป็นในการปรับลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐเป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอตลอดมา แต่กลับไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีความพยายามในการแก้ปัญหาสถานะทางการคลังที่เกิดจากเงินบำนาญข้าราชการ
เช่น อินเดียได้ยกเลิกระบบบำนาญข้าราชการ ซึ่งจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด มาเป็นระบบที่ข้าราชการเข้าใหม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือน จึงจะได้รับเงินบำนาญภายหลังเกษียณอายุราชการ
ประเด็นที่กระทรวงการคลังต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้คือ เพราะเหตุใดมาตรการทางการคลังหลังวัยเกษียณของแรงงานแต่ละกลุ่มในประเทศจึงมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ทั้งๆ ที่ทุกกลุ่มต่างเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ อาทิ แต่ละเดือนแรงงานในภาคเอกชนต้องสมทบเงินเข้าในระบบประกันสังคมก่อน จึงจะได้รับเงินเลี้ยงชีพจำนวนน้อยนิดหลังการเกษียณจากการทำงาน
กล่าวคือ “ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง (คำนวณจากเพดานไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย” หมายความว่า ถ้าสมทบ 180 เดือนจะได้เงินเลี้ยงชีพหลังเกษียณจำนวนประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
หากทว่ามาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (ฉบับที่3) พ.ศ. 2546) บัญญัติว่า “บำเหน็จบํานาญ บําเหน็จดํารงชีพ และบําเหน็จตกทอด ให้จ่ายจากเงินงบประมาณ สําหรับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวให้จ่ายจากกองทุน...”
และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้ข้าราชการได้รับเงินบำนาญโดย “..คํานวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย”
ปัจจุบันหลังเกษียณข้าราชการโดยเฉลี่ยจึงได้รับบำนาญประมาณ 30,000-70,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินบำนาญทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน (ไม่นับรวมเงินจาก กบข.ที่มาจากการสมทบระหว่างการทำงานโดยฝ่ายข้าราชการในอัตราร้อยละ 3-27 และฝ่ายรัฐในฐานะนายจ้างอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทเอกชน)
ทั้งนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระบุว่าได้รับบำนาญเดือนละ 60,000 บาท
เมื่อพิจารณาจากมิติของประชาชนผู้เสียภาษี ที่ต้องแบกรับภาระเต็มจำนวนในการจ่ายบำนาญให้ข้าราชการแต่ละคน คนละหลายหมื่นบาทต่อเดือนย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
และเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพและมั่นคง ภาครัฐต้องปฏิรูปให้มีระบบบำนาญแบบยั่งยืนและเท่าเทียม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหลากหลายประเทศต้นแบบ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเดนมาร์ก และประเทศสวีเดน ที่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบบำนาญแห่งชาติครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491 แม้ว่าจะเป็นการประกันชีวิตยามชราให้คนในสังคมทุกระดับ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางการคลังที่ประเทศมิอาจรับได้ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530 ระบบบำนาญสาธารณะประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง จึงมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง
ภายหลังการปฏิรูปครั้งสำคัญเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ระบบบำนาญปัจจุบันถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เงินบำนาญรายได้ (income pension) เงินบำนาญพิเศษ (premium pension) และเงินบำนาญรับประกัน (guarantee pension)
จำนวนเงินบำนาญรายได้ (income pension) ที่แต่ละบุคคลจะได้รับในแต่ละเดือนขึ้นอยู่กับระยะเวลาและรายได้ในช่วงการทำงาน โดยระหว่างการทำงานจะมีการสมทบร้อยละ 16 ของเงินเดือนเข้ากองทุนบำนาญ สำหรับเงินบำนาญพิเศษ (premium pension) มาจากการจ่ายเงินสมทบร้อยละ 2.5 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นส่วนของแต่ละบุคคลที่สามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินไปลงทุนแหล่งใด ผ่านสำนักงานบำเหน็จบำนาญแห่งสวีเดน
ทั้งนี้ พึงตระหนักว่า บำนาญรายได้และบำนาญพิเศษเป็นระบบที่สมทบร่วมกันของฝ่ายแรงงานและนายจ้าง โดยหลักแล้วรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดินสมทบเฉพาะในกรณีเงินบำนาญที่จะจ่ายในแต่ละปีไม่เพียงพอเท่านั้น
สำหรับเงินบำนาญรับประกัน (guarantee pension) ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง บุคคลจะได้รับเงินส่วนนี้เมื่อไม่เข้าสองหลักเกณฑ์ข้างต้น กล่าวคือ มีรายได้น้อยหรือไม่มีเลยในช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศสวีเดน
หากบุคคลอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เงินบำนาญที่ได้รับจะลดลง โดยบำนาญรับประกันมีเพดานการจ่ายเงินสูงสุดประมาณหนึ่งในสี่ของค่าจ้างโดยเฉลี่ย
อนึ่ง นอกจากบำนาญแห่งชาติที่บุคคลมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย องค์กรในประเทศสวีเดนในฐานะนายจ้างยังมีกองทุนบำนาญสำหรับพนักงาน เรียกว่า บำนาญอาชีพ (Occupational Pension) เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ภายหลังเกษียณให้กับพนักงานเพิ่มเติมจากบำนาญที่ได้จากระบบบำนาญแห่งชาติ อาทิ Statens tjänstepensionsverk (SPV) เป็นกองทุนบำนาญอาชีพสำหรับบุคลากรที่ทำงานให้หน่วยงานรัฐ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายให้บำนาญแก่ประชาชน แม้ว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่เมื่อพิจารณาสถานะทางการคลังประกอบกับบริบทการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็คงไม่สามารถทำได้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบบำนาญในปัจจุบัน
เพราะการที่กลุ่มบุคลากรภาครัฐซึ่งเป็นคนมีศักยภาพ มีความสามารถ แต่เงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณอายุราชการกลับถูกโอบอุ้มด้วยงบประมาณแผ่นดินเต็มจำนวนเสมือนเป็นกลุ่มเปราะบาง ย่อมผลักดันประเทศให้ไปสู่ปัญหาทางการคลัง
ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรใช้โอกาสนี้ปรับระบบบำนาญของทุกกลุ่มอาชีพให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม และเหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เฉกเช่นนานาอารยประเทศ และที่สำคัญต้องเป็นระบบที่ไม่เสี่ยงต่อวิกฤติทางการคลัง!