เบื้องลึก ปรับเกณฑ์จ่าย 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ'

เบื้องลึก ปรับเกณฑ์จ่าย 'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ'

สะเทือน’สูงวัย'ทั่วประเทศอย่างมาก เมื่อมีการประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ฉบับใหม่ที่กำหนดคุณสมบัติ “ให้เฉพาะคนจน”  เบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องนี้มีที่มา โดยเฉพาะนโยบายที่หาเสียงไว้ของพรรคการเมือง

Keypoints:

  •     สถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศ เทียบเคียงวัยแรงงานและวัยเด็ก รวมถึง งบประมาณที่ใช้ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  •       คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่องของกระทรวงมหาดไทย  มีใครกระทบสิทธิหรือถูกตัดเงินหรือไม่ 
  •      วิเคราะห์เบื้องลึกเบื้องหลัง ที่มาของระเบียบดังกล่าว แม้จะออกมาแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะพิจารณาอีกครั้ง 

งบฯเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
        ปี 2566 มีผู้สูงอายุแตะ 20 % จึงเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” โดย มีวัยแรงงาน 63 % และวัยเด็ก 16 %

         อีก 20 ปีข้างหน้า ปี 2583 ผู้สูงอายุแตะ 30 % วัยแรงงาน 55 % วัยเด็ก  12 % เข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด

    ส่วนงบประมาณที่ใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในแบบปัจจุบัน ดังนี้

ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 56,462 ล้านบาท

ปีงบประมาณ2565 จำนวน  82,341 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 71,057 ล้านบาท  
          การรับมือกับสังคมสูงวัย ไม่อาจปฏิเสธว่า“เบี้ยยังชีพ”กลายเป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของพรคคการเมือง เพียงแต่มีเงื่อนไขการได้รับแตกต่างกันในแต่ละพรรค

คุณสมบัติได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

      ปัจจุบัน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ถือเป็นผู้สูงอายุ จะได้รับเบี้ยยังชีพทุกคนเป็นแบบขั้นบันได คือ 60 ปีได้ 600 บาทต่อเดือน 70 ปีได้ 700 บาทต่อเดือน และ 80 ปีขึ้นไปได้ 800 บาทต่อเดือน 

       แต่ตามประกาศหลักเกณฑ์ใหม่นั้น จะเป็นการให้แบบเจาะจง หรือ Targeting  คือให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน 

       คุณสมบัติที่อยู่ในระเบียบใหม่ ที่ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566

เบื้องลึก ปรับเกณฑ์จ่าย \'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\'

       สาระสำคัญ หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1.มีสัญชาติไทย

2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น

4. เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

     รายละเอียดของหลักเกณฑ์ว่า รายได้ไม่เพียงพอนั้นควรอยู่ในช่วงรายได้เท่าไร ประกอบอาชีพอะไร ฯลฯ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ต้องรอรายละเอียดจากคณะกรรมการผู้สูงอายุในการชี้ขาดอีกทีและสำหรับผู้ที่ได้รับเงินผู้สูงอายุอยู่แต่เดิมแล้ว ก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม

     'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' รายเก่าได้ตามเดิม
    เท่ากับว่าระเบียบดังกล่าวยังไม่มีการนำมาใช้ในตอนนี้  อย่างไรก็ตาม แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ(ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ระเบียบนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการปรับปรุงในเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ข้อ 6(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
        ทั้งนี้ ระเบียบใหม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 17 วรรค 1 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

           และ ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ยังมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ตามข้อ 6(4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
      “การปรับปรุงระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพเดิม และยังคงสิทธิรับเบี้ยยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. จะหารือในเรื่องระเบียบดังกล่าว ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ”แรมรุ้งกล่าว 

เบื้องลึก ปรับเกณฑ์จ่าย \'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ\'

     ฉะนั้นแล้ว หากเป็นไปตามแนวทางปัจจุบันและประกาศฉบับใหม่  ก็จะเท่ากับว่า ผู้สูงอายุรายเดิมที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว จะได้รับเหมือนเดิม ไม่โดนตัดสิทธิ แต่ผู้ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุหลังประกาศนี้  จะได้รีบเบี้ยยังชีพ เมื่อมีการคัดกรองเรื่องความยากจนแล้ว 
ทำไมต้องปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

        ทำไมต้องปรับเกณฑ์ในเมื่อเบี้ยยังชีพต้องเป็นสวัสดิการของประชาชน และควรได้แบบถ้วนหน้า ปัจจัยสำคัญ น่าจะอยู่ที่งบประมาณที่นำมาใช้  ดังที่กล่าวงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อบวกกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆในประเด็นนี้ ล้วนเป็นการแข่งกัน เพิ่มเงินเบี้ยยังชีพรายเดือนให้สูงขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขยับไปที่ 3,000 บาทต่อเดือน 

       จากจำนวนผู้สูงอายุปัจจุบันอยู่ที่ราว 12 ล้านคน ตามการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบเดิมใช้งบประมาณส่วนนี้ราว 1 แสนล้านบาทต่อปี  หากยังคงจ่ายแบบเดิม ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น  20 ล้านคน ต้องใช้เงินงบประมาณ  2 แสนล้านบาทต่อปี  ยังพอเป็นไปได้

     ทว่า หากเป็น 3,000 บาทต่อเดือน  สูงขึ้น 3 เท่า  แปลว่าจะต้องใช้งบประมาณ 3.6 แสนล้านบาท  และในอนาคตจากที่คำนวณแล้วจะอยู่ที่ 7 แสนกว่าล้านบาทต่อปี  ฉะนั้น อนาคตถ้าให้แบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยง
       นี่จึงอาจเป็นเหตุผล หนึ่งที่ทำให้มีการออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการปรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าได้ทุกคนตามขั้นบันไดอายุ  มาเป็นแบบเจาะจง หรือ Targeting ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพหายไปราว 50 % จะต้องใช้งบฯราว 3.5 แสนล้านบาท ยังพอที่จะจัดการได้ ในการหาเงินมาใช้ 
           แต่จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องออกระเบียบใหม่ในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ ?