'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ทางที่จะไปต่อ คนได้รับไม่ถูกตัดเงิน
'เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ' ทีดีอาร์ไอชี้ 2 ทางเลือก “แบบถ้วนหน้า”เพิ่มได้เป็น 1,000 บาท หวั่นพรรคการเมืองแข่งอัพยอดสูงขึ้น ระยะยาวต้องใช้งบฯทะลุ 7 แสนลบ. ระวังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำรอยละตินอเมริกา มุ่งให้สวัสดิการไม่คำนึงถึงรายได้รัฐ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีการประกาศล่าสุดว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทางปฏิบัติ เนื่องจากคนตัดสินคือคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เท่ากับเป็นการโยนเผือกร้อนให้รัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้น สถานการณ์การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเป็นเหมือนเดิมจนกว่ารัฐบาลใหม่จะมาตัดสินใจจะเปลี่ยนหรือไม่
2 ทางเลือกเบี่้ยยังชีพ
ประเทศไทยสามารถมี 2 เส้นทาง ซึ่งทางทฤษฎีทั้ง 2 ทางมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ 1.แบบเดิม ให้แบบถ้วนหน้า ได้ทุกคน แต่งบประมาณแพง
หรือ 2.Targeting ที่จะต้องมีกลไกในการคัดกรองต่างๆนานา งบประมาณลดลง แต่มีความเสี่ยงที่จะเลือกกลุ่มเป้าหมายถูกหรือไม่ จะมีปัญหาคนที่อยากจะช่วยกลับไม่ได้ ส่วนคนที่อยากคัดกรองออกกลับดหนีการคัดกรองจนได้รับเงิน ซึ่งเกิดขึ้นตอนที่ให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสภาพัฒน์ประมาณการมีคนจน 4ล้านคน แต่จากการสำรวจกลับพบว่า คนจนกว่า 50 % ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แปลว่า 2 ล้านคนไม่ได้รับบัตร นี่คือการตกหล่นเมื่อใช้ระบบ targeting ขณะที่มีผู้ได้รับบัตร 12 ล้านใบ แปลว่าคนที่ไม่จนได้รับบัตร
ยังเพิ่มเป็น 1,000 บาท/เดือนได้
สถานการณ์ปัจจุบันให้แบบขั้นบันไดตามอายุ 600,700,800 และ 1,000 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณปีละไม่ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งทางวิชาการอ้างอิงจากงานวิจัยที่สรุปให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พบว่า ถ้าดูสถานะด้านการคลังยังสามารถให้เบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มได้อีก โดยไม่สุ่มเสี่ยงทางด้านการคลัง อยู่ที่ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้าได้รับเท่ากันทุกคน โดยจะใช้งบประมาณราว 1.2 แสนล้านบาทต่อปี
ดังนั้น สถานการณ์การคลังตอนนี้ยังให้แบบถ้วนหน้าได้ ในฐานผู้สูงอายุมีจำนวนราว 12 ล้านคน แต่มีข้อกังวล ในอนาคตอีก 10 -15ปี ที่มีผู้สูงอายุราว 20 ล้านคน จะมีความเสี่ยง ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 70 % ต้องใช้เงินงบประมาณ 2 แสนล้านบาท
งบฯอาจทะลุถึง 7 แสนล้านบาท
“แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ นโยบายการเมืองแข่งกันหาเสียงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนมากขึ้น ไม่ได้ให้ในตัวเลขที่เหมาะสม แต่กระโดดไปให้ที่ 3,000 บาท สูงขึ้น 3 เท่า แปลว่าจะต้องใช้งบประมาณ 3.6 แสนล้านบาท และในอนาคตจากที่คำนวณแล้วจะอยู่ที่ 7 แสนกว่าล้านบาทต่อปี”ดร.นณริฏ กล่าว
ฉะนั้น อนาคตถ้าให้แบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยง จึงเป็นโจทย์ว่าหากรัฐจะดำเนินนโยบายแบบถ้วนหน้า จะต้องหาเงินมาใช้ในส่วนนี้ให้ได้ 7 แสนล้านบาทต่อปี ข้อเสนอเรื่องให้แบบ Targeting เริ่มมีมุมในอนาคต โดยจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพหายไปราว 50 % จะต้องใช้งบฯราว 3.5 แสนล้านบาท ยังพอที่จะจัดการได้ ในการหาเงินมาใช้
หวั่นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ดร.นณริฏ กล่าวด้วยว่า ข้อสรุป คือ ปัจจุบันควรให้แบบถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาทเท่ากันทุกคน ซี่งสถานะการคลังยังดำเนินการได้ แต่ในระยะยาวต้องดูที่นโยบายหาเสียงจะแข่งกันเพิ่มตัวเลขเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่
หากเพิ่มขึ้นมากก็เป็นความท้าทายว่าจะยังสามารถดำเนินการแบบก้าวหน้าได้หรือไม่ ซึ่งหากหาเงินไม่ได้ปีละ 7 แสนล้านบาทมาใช้ในส่วนนี้ประเทศจะเกิดวิกฤต กรณีศึกษาตัวอย่างประเทศแถบละตินอเมริกาที่ให้สวัสดิการมาก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงแหล่งรายได้ของรัฐ จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น เวเนซุเอลา อาเจนติน่า ศรีลังกา
ดังนั้น หากทำไม่ได้ก็จะต้องมาคิดเรื่อง Targeting ที่จะช่วยลดการใช้เงินไปได้มาก แต่ก็มีจุดอ่อนจะต้องคิดค้นวิธีการที่จะคัดกรองได้ดีที่สุดมาใช้ในการเลือกคนให้ตรงเป้าหมายจริงๆ
“ที่สำคัญไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางใดมาใช้จะต้องกำหนดยั่งยืน อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะถ้าปีนี้ใช้แบบ Targeting ปีหน้าใช้แบบถ้วนหน้า จะไม่สามารถสร้างองคาพยพในการดำเนินการได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่งแล้วเดินทางนั้นไปยาว” ดร.นณริฏ กล่าว
นโยบายหาเสียงมองแค่สั้นๆ
ต่อข้อถามพิจารณาจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆแล้วเป็นอย่างไร ดร.นณริฏ กล่าวว่า เป็นการมองแบบสั้นๆ ซึ่งดังที่บอกระยะสั้นไม่มีปัญหาทางการคลัง พอจะหาเงินมาโปะได้แน่นอน แต่ลืมคิดไปหรือไม่ว่าสวัสดิการที่ให้ไปแล้ว จะลดหรือยกเลิกไม่ได้ง่ายๆ นโยบายต่างๆจะมีภาระผูกพันไปในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลที่จะเข้ามาในช่วง 4 ปีที่บริหารจะไม่มีปัญหา หากไม่ได้คิดว่าอีก 10-20ปีข้างหน้าจะหาเงินมาอย่างไร เป็นสิ่งที่อันตราย และยิ่งแข่งกันให้ในจำนวนที่สูงขึ้นมากจนเกินควร ยิ่งอันตรายและมีความเสี่ยง หากจะดำเนินการต้องบอกแหล่งที่มาของเงินด้วย ไม่ใช่แค่กู้มาโปะ