ถอดรหัส 4 โจทย์ใหญ่ เมื่อ 'ธุรกิจไทย' ต้องรับมือ 'ทุนจีน' บุกชิงตลาด
เมื่อสินค้าจีนทะลักเข้ามาที่ไทยจำนวนมาก มีราคาต่ำกว่า อีกทั้งส่งจากโรงงานจีนถึงมือลูกค้าไทยได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางบริษัทไทยเหมือนแต่ก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่ที่รายย่อยไทยต้องเตรียมรับมือ
Key Points
- บริษัท Lazada ซึ่งเจ้าของคือ Alibaba ตั้งคลังสินค้าที่ศูนย์โลจิสติกส์ TPARK บางพลี 3 ในจ.สมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 5 สนามฟุตบอล จัดเก็บสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ
- ห้างซามาเนียเคยโปรโมตสินค้าไว้ว่า "สินค้าราคาส่งไม่ผ่านคนกลาง ราคาถูกมาก โปรโมชันสุดพิเศษ ลดราคา 50% ทั้งร้านทุกรายการไม่มีขั้นต่ำ”
- สินค้าจีนที่ขายใน Shopee, Lazada จำนวนมาก ไม่มีเครื่องหมาย อย. และ มอก. ซึ่งเกี่ยวกับมาตรฐานสุขภาพและความปลอดภัยของสินค้า
ปัจจุบัน คลื่น “ทุนจีน” กำลังคืบคลานเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของการโยกย้ายฐานคลังสินค้า และการเข้ามาปักหลักประกอบกิจการหรือค้าขาย โดยรุกทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ จนธุรกิจรายย่อยในไทยเผชิญการแข่งขันดุเดือดขึ้นอย่างน่ากังวล จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มอุตสาหกรรมไทยไม่อาจอยู่นิ่งเฉยและต้องหารือกันเพื่อหาทางรับมือ
เมื่อไม่นานมานี้ ทางสภาอุตสาหกรรมไทยได้เรียกประชุมครั้งสำคัญ จากการที่ 20 กลุ่มอุตสาหกรรมไทยกำลังเดือดร้อนจากสินค้าจีนจำนวนมากที่เข้ามาตีตลาด เช่น อุตสาหกรรมยา อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปิดหาสินค้าตามแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada จะพบว่า มีสินค้าจากจีนเป็นจำนวนมาก ที่ราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า กระเป๋า ทิชชู หลอดไฟ ฯลฯ จนผู้ค้าตัวเล็กตัวน้อยของไทยขายสู้ไม่ได้ กลายเป็น “โจทย์หนัก 4 ข้อ” ที่ผู้ค้ารายย่อยไทยรู้สึกกังวล และจำเป็นต้องเตรียมรีบรับมือดังนี้
- โจทย์ข้อที่ 1 : สินค้าจีนที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางของไทยอีกต่อไป
แต่เดิมนั้น สินค้าจากจีน ผู้ค้าไทยจะได้กำไรส่วนต่างจากการนำเข้าสินค้า บริษัทขนส่งไทยก็ได้ประโยชน์ด้วย การขนส่งต้องผ่านผู้ค้าส่งไทย ผู้กระจายสินค้าไทย และผู้ค้าปลีกไทย เกิดรายได้ เกิดการจ้างงาน
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน บริษัทโรงงานจีนสามารถขายตรงถึงมือผู้บริโภคไทยได้ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Shopee และ Lazada โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางไทยอีก
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทางการจีนช่วยอุดหนุนค่าขนส่ง และเปิดการค้าเสรีกับไทย จึงช่วยให้ผู้ค้าจีนขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าไทย จนผู้ค้าไทยขายสู้ไม่ได้
- โจทย์ข้อที่ 2 : การเข้ามาตั้งโกดังจีนในไทย
แม้ว่าสินค้าจีนจะราคาถูกแล้ว ทางเอกชนจีนก็หาวิธีลดต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นอีก ด้วยการเข้ามาตั้งคลังสินค้าในไทย ดังจะเห็นได้จากกรณีบริษัท Alibaba ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกและค้าส่งออนไลน์ของจีน ตัดสินใจลงทุนหมื่นล้านจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย
โดยเฉพาะบริษัท Lazada ของ Alibaba ได้ตั้งคลังสินค้าที่ศูนย์โลจิสติกส์ TPARK บางพลี 3 ในจังหวัดสมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 24,000 ตารางเมตร ขนาดเทียบเท่ากับ 5 สนามฟุตบอล จัดเก็บสินค้ามากกว่า 50,000 รายการตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์สัตว์เลี้ยง สมาร์ทโฟน เครื่องประดับ ฯลฯ
- คลังสินค้าของ Lazada (เครดิต: Lazada) -
นอกจากนี้ ยังมีห้างซามาเนีย พลาซ่า (Samanea Plaza) ห้างดังค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่แบบครบวงจร รวมสินค้าราคาถูกทุกอย่างจากจีนมาไว้ที่นี่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 220 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด กม. 26 ย่านบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
- ห้างซามาเนีย พลาซ่าในไทย (เครดิต: Samanea Plaza) -
ด้านห้างซามาเนียเคยโปรโมตสินค้าไว้ว่า “สินค้าราคาส่งไม่ผ่านคนกลาง ราคาถูกมาก โปรโมชันสุดพิเศษ ลดราคา 50% ทั้งร้านทุกรายการไม่มีขั้นต่ำ” จนกลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทางการไทยจึงเข้าไปดำเนินการ
โกดังจีนในไทยเหล่านี้ช่วยทำให้ผู้ค้าจีนลดต้นทุน และสามารถส่งสินค้าถึงมือคนไทยได้เร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะหากเป็นโกดังจีนในเขตปลอดภาษี ก็จะช่วยลดต้นทุนด้านภาษีต่าง ๆ ขณะที่ผู้นำเข้าไทยกลับเผชิญต้นทุนจากภาษีศุลกากรและภาษีเบ็ดเตล็ด
- โจทย์ข้อที่ 3 : การเปิดขายสินค้าแบบครบวงจร
เมื่อบริษัทจีนรุกตลาดไทย สินค้าจีนที่เข้ามาไม่ได้มีเพียงประเภทเดียวอย่างเช่นหลอดไฟเท่านั้น แต่มาพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กไฟ โคมไฟ หม้อหุงข้าว เตารีด พัดลม ฯลฯ
สำหรับสินค้าจีนของบางบริษัท ยิ่งขายผ่านช่องทางออนไลน์ ก็มีการหลุดรอดการคัดกรองจากภาครัฐในเรื่องมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัย ดังจะเห็นจากสินค้าจีนที่ขายใน Shopee, Lazada จำนวนมาก ไม่มีเครื่องหมาย อย.และ มอก.
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Pay Solutions ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของไทย และผู้ก่อตั้ง TARAD.com ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทยมองว่า สินค้าจีนที่เข้ามา บางส่วนมีการทำผิดกฎหมาย นำมาขายในโลกออนไลน์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทย เช่น หลอดไฟฟ้า LED จากจีนที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือเครื่องสำอางที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อีกทั้งบางครั้งมีขั้นตอนพิเศษที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
- นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Pay Solutions และผู้ก่อตั้ง TARAD.com -
- โจทย์ข้อที่ 4 : การเข้ามาเรียนภาษาไทยของคนจีน
เมื่อผู้ประกอบการจีนเข้ามาตั้งร้านค้าในไทย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ด ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหารจีน และโกดังสินค้าต่าง ๆ หากภายในร้านหรือโกดังมีแต่ป้ายหรือเมนูอาหารเป็นภาษาจีนล้วน อาจทำให้ลูกค้าไทยรู้สึกห่างเหินได้
ดังนั้น ชาวจีนจึงหันมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทย ฝึกเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม เพื่อเข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้น โดยการเปิดธุรกิจในไทยเมื่อเทียบกับที่จีน ไทยมีการแข่งขันที่น้อยกว่า และระเบียบก็ไม่เข้มงวดเท่าจีนแผ่นดินใหญ่
ดังจะเห็นได้จากชาวจีนไลฟ์สด ขายของผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok แข่งกับร้านคนไทย แม้พูดภาษาไทยจะไม่ได้ชัดมาก แต่งัดกลยุทธ์ราคาโรงงานที่ถูกกว่า และเป็นที่สนใจจากคนไทยไม่น้อย
- การไลฟ์สดขายสินค้าของชาวจีนที่แข่งขันกับคนไทย (เครดิต: Freepik) -
- ผู้ค้ารายย่อยไทย ควรเตรียมรับมืออย่างไร
สิ่งที่จีนได้เปรียบไทยขณะนี้ คือ จีนเชี่ยวชาญและสามารถผลิตสินค้าประเภทโหลที่ใช้เครื่องจักร อย่างของทุกชิ้น 20 บาท ทิชชู เครื่องครัว อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ ได้ในปริมาณมากและราคาต่ำกว่าไทย
ดังนั้น ผู้ค้าไทยอาจจำเป็นต้องปรับตัว จากการนำเข้าสินค้าจีนมาขายต่ออย่างสมัยก่อน หรือขายสินค้าที่จีนก็ผลิตได้เหมือนกัน เปลี่ยนเป็น “สินค้าที่มีเอกลักษณ์” ที่ต้องใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์แทน ซึ่งไทยโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว อีกทั้งคุณภาพสินค้าไทยยังเป็นที่ยอมรับจากตลาดโลก
หากไทยสามารถนำจุดแข็งด้านความคิดสร้างสรรค์ ปั้นเป็นแบรนด์เฉพาะตัวขึ้นมา เน้นสู้ด้านคุณภาพและความแปลกใหม่ จะช่วยรับมือสินค้าโหลจากจีนได้ดียิ่งขึ้น
หากสามารถไปได้ไกลกว่านั้น ก็อาจเข้าไปทำการตลาดในจีน ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันสูง แต่ตลาดมีขนาดใหญ่มาก ด้วยจำนวนประชากรถึง 1,400 ล้านคน
ขณะเดียวกัน การอาศัยภาคเอกชนไทยปรับตัวเพียงฝ่ายเดียวซึ่งต้องใช้เวลาและท้าทาย คงไม่เพียงพอ การมีมาตรการควบคุมการทะลักของสินค้าจีนอย่างจริงจังมากขึ้นจากภาครัฐไทย ไม่ว่าจะเป็น การทำให้สินค้าจีนออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษีอย่างทั่วถึงมากขึ้น คัดกรองความปลอดภัยของสินค้าจีน และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย จึงจะช่วยปกป้องผู้ค้าไทยได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อมองไปที่ประเทศเยอรมนี สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีนเอง การที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปเปิดร้านอาหารหรือร้านต่าง ๆ ในประเทศเหล่านั้น ค่อนข้างยากและหลายขั้นตอน
ตัวอย่างเช่น หากต้องการเข้าไปเปิดร้านอาหารไทยในเยอรมนีนั้น ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ต้องมีวีซ่าถาวรที่อนุญาตให้ประกอบอาชีพได้ ต้องผ่านการอบรมทั่วไปของหอการค้าในท้องที่นั้น ๆ ด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยภายในร้านก่อน ต้องมีจำนวนห้องน้ำเพียงพอ มีทางออกฉุกเฉิน มีใบอนุญาตต่าง ๆ และต้องจ่ายภาษีส่วนต่าง ๆ อีกหลายรายการ ซึ่งเมื่อเทียบกับไทย การเข้ามาเปิดธุรกิจของชาวต่างชาติในไทยกลับทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งกฎหมายไทยก็ยืดหยุ่นมากกว่าด้วย
อ้างอิง: thaibizchina, ditp, bangkokbiznews, samanea, matichon