นโยบายเกษตร ‘รัฐบาล’ ต้องมีมากกว่าการพักหนี้
นโยบายเกษตรของรัฐบาลเศรฐา 1 มุ่งเน้นไปที่การพักหนี้เกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายระยะสั้น แต่จำเป็นจะต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายระยะยาว เช่น การเพิ่มผลผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ และต้องจับตามองว่าจะนำนโยบายจำนำข้าวกลับมาใช้อีกหรือไม่
การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องมาสรุปนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา โดยใช้นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นตัวตั้งในการวางนโยบาย/รัฐบาล ซึ่งนโยบายด้านการเกษตรเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ถูกนำมาหาเสียงเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยจะไม่โดดเด่นเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ชูนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เช่น ข้าวเปลือกเจ้ารับจำนำที่ราคาตันละ 15,000 บาท
สำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 นโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร มีเพียงนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยจะเป็นการช่วยผ่อนปรนในอัตราดอกเบี้ยด้วยวิธีการที่รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนเกษตรกรรวมระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นแนวทางที่พรรคเพื่อไทยในนามพรรคไทยรักไทย เคยดำเนินการสำเร็จมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน
ในขณะที่นโยบายหลักด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยจะเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายในปี2570 เป็นการเพิ่มจากรายได้เฉลี่ยปีละ 10,000 บาท/ไร่ เพิ่มเป็นปีละ 30,000 บาท/ไร่ โดยพรรคเพื่อไทยจะสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีนำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้าวถูกจับตามองว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้นโยบายจำนำข้าวอีกหรือไม่ หลังจากการนำนโยบายจำนำข้าวครั้งล่าสุด สร้างภาระทางการคลังจำนวนมาก โดยการจัดทำนโยบายของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ไม่มีการระบุถึงการจำนำข้าว แต่จะมีนโยบายเพิ่มรายได้ด้วยการยกระดับการผลิต โดยปรับเปลี่ยนนาหว่านสู่นาดำนาหยอด งดเผางดนำฟางออกจากแปลง ใช้จุลินทรีย์คุณภาพสูงเพื่อรักษาธาตุอาหารให้หมุนเวียน ลดต้นทุนค่าปุ๋ย เพิ่มผลผลิตต่อไร่
พรรคเพื่อไทยไม่ได้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน้าที่นี้ตกเป็นไปของพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยยังคงบริหารกระทรวงพาณิชย์ แน่นอนว่าจะต้องทำงานกับพรรคพลังประชารัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลพืชเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ปาล์ม ซึ่งทั้ง 2 พรรค มีนโยบายที่ใกล้เคียงกันคือ การผลิตสินค้าเกษตรที่ต้องนำด้วยการตลาด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันว่าจะต้องผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ ถือเป็นเรื่องที่เห็นผลระยะยาวที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร โดยต้องทำควบคู่กับนโยบายระยะสั้นเร่งด่วนอย่างการพักหนี้เกษตรกร