เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน

เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน

รู้จัก “จุดเด่นมาเลเซีย” รัฐบาลทำอย่างไรถึงสามารถดึงดูดเหล่าบริษัทชิปชั้นนำให้เข้าไปลงทุนได้ จนขึ้นเป็นตัวเต็ง “ฮับด้านชิป” แห่งอาเซียนในอนาคตอันใกล้

Key Points

  • Intel ผู้ผลิตซีพียู ประกาศลงทุนมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 260,000 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานประกอบและทดสอบชิปในมาเลเซีย
  • “มาเลเซีย” ครองสัดส่วนประกอบชิปที่ 13% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก  
  • อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 7% โดยมีเป้าหมายไปถึงมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2571


ถ้าเอ่ยถึง "ฮับ" หรือ "ศูนย์กลาง" ด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียน หลายคนอาจนึกถึง “ไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเต็งฮับ EV ระดับภูมิภาค แต่สำหรับ “ชิป” ซึ่งเป็นมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเทศที่โดดเด่นจนอาจเป็นฮับด้านชิปของภูมิภาคอาเซียนได้ คือ มาเลเซีย” ซึ่งครองสัดส่วนประกอบชิปที่ 13% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก  

ดังจะเห็นได้จากบรรดาผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกต่างเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็น Intel ผู้ผลิตซีพียูของสหรัฐ ที่ประกาศลงทุนมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 260,000 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานประกอบและทดสอบชิป, บริษัท Foxconn ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน คาดว่าใช้เงินลงทุนสร้างโรงงาน 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 110,000-180,000 ล้านบาท

เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน

- ซีพียู Intel (เครดิต: Intel) -

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีบริษัทชิปหลายรายที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในมาเลเซียแล้ว อาทิ

ASE Technology Holding บริษัทผู้ประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน

Infineon Technologies ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี

Onsemi บริษัทซัพพลายเออร์เซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ

X-FAB บริษัทโฮลดิงผลิตแผ่นเวเฟอร์สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมนี

Melexis บริษัทซัพพลายเออร์อิเล็กทรอนิกส์โซลูชันของเบลเยียม

เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน

 

- ที่ตั้งโรงงานผลิตของ X-FAB บริษัทผลิตแผ่นเวเฟอร์สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมนี โดยในเอเชีย มีเพียงที่ตั้งในมาเลเซีย (เครดิต: X-FAB) -

คำถามที่น่าคิดต่อสำหรับไทย คือ “มาเลเซียมีข้อดีหรือจุดได้เปรียบอย่างไร ถึงสามารถดึงดูดบรรดาบริษัทชิปจากทั่วโลกให้เข้าไปลงทุนได้”

  • ตั้งเขตเสรีพิเศษดึงดูดนักลงทุน

ย้อนกลับไปในปี 2515 มาเลเซียตั้งเป้าหมาย พาประเทศเป็น “ศูนย์กลางแห่งชิปและเทคโนโลยีจึงตั้งพื้นที่การค้าเสรีขึ้นในบริเวณรัฐปีนัง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเสนอแรงจูงใจทางการค้าต่าง ๆ เพื่อโน้มน้าวให้บริษัทผลิตชิปเข้าไปลงทุน

ในที่สุด มาเลเซียก็ทำสำเร็จในปีดังกล่าว บริษัท Intel ตกลงตั้งโรงงานประกอบชิปในพื้นที่ราว 12.65 ไร่ในรัฐปีนัง นับเป็นโรงงานนอกแผ่นดินสหรัฐแห่งแรกของ Intel ด้วย

เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน

- ตัวแทนจากบริษัท Intel หารือกับรัฐบาลมาเลเซียถึงการตั้งโรงงานชิป (เครดิต: Intel) -

ต่อมามีบริษัทด้านชิปและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิต เช่น AMD ผู้ผลิตซีพียู, HP ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, Hitachi ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า, National Semiconductor บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ, Renesas ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น และ Texas Instruments ผู้ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ

  • รัฐสนับสนุนให้มีบริษัทชิปท้องถิ่น

ไม่เพียงแต่เชื้อเชิญบริษัทต่างชาติให้เข้าไปลงทุน ในปี 2538 มหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นริเริ่มให้เกิดบริษัทผลิตชิปของชาติขึ้น โดยให้ Khazanah Nasional Berhad กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซียเข้าถือหุ้นใหญ่ ตั้งบริษัท SilTerra Malaysia ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียขึ้นมา โดยรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณในการสร้างบุคลากรวิจัย และพัฒนาชิปด้วย

อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนให้มีบริษัทด้านชิปของประเทศ จนเกิดบริษัทรับจ้างประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติมาเลเซีย 3 บริษัทขึ้นมา คือ บริษัท Inari Amertron, Carsem และ Unisem รวมถึงบริษัท SMD Semiconductor วิจัยและพัฒนาชิปของมาเลเซีย โดยมีสมาคม Malaysia Semiconductor Industry Association (MSIA) ดูแลด้านชิปโดยเฉพาะ

เปิดจุดเด่น ‘มาเลเซีย’ ทำไมส่อขึ้นแท่น ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน - เซมิคอนดักเตอร์ (เครดิต: AFP) -

  • ตัวเลือกที่โดดเด่น หลังเกิดสงครามการค้า

แม้หลายประเทศในเอเชียจะมีเทคโนโลยีผลิตชิปที่เหนือกว่ามาเลเซีย อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง แต่ค่าแรงของประเทศเหล่านี้กลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ก็ขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรง บริษัทชิปหลายรายจึงตัดสินใจกระจายฐานมาที่ “มาเลเซีย” แทน เพราะมีค่าแรงไม่สูงนักเมื่อเทียบกับฐานผลิตคู่แข่ง และเป็นฐานเดิมของบริษัท Intel และบริษัทรายอื่น ๆ มาก่อนแล้ว แรงงานมีประสบการณ์ประกอบชิป คล้ายกับไทยที่เคยเป็นฐานผลิตรถยนต์สันดาปให้ญี่ปุ่นมาแต่เดิม จึงดึงดูดเหล่าบริษัท EV จีนเข้ามาตั้งฐานในไทย

นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ได้ลุกลามถึงอุตสาหกรรมชิป ทำให้หลายบริษัทเลือกกระจายความเสี่ยงมาที่มาเลเซียซึ่งวางตัวเป็นกลาง และไม่ได้โน้มเอนทางการเมืองที่จะเป็นคู่ขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้

ความโดดเด่นด้านชิปดังกล่าว ยังทำให้ล่าสุด Tesla บริษัทผลิตรถ EV รายใหญ่ของสหรัฐ ตัดสินใจเข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคที่มาเลเซีย เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งผลิตชิปที่จำเป็นกับรถและได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลมาเลเซียเสนอให้

อึ้ง ก๊ก เตียง (Ng Kok Tiong) รองประธานบริษัทชิป Infineon และเป็นหัวหน้าสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซีย แสดงความเห็นว่า มาเลเซียได้ประโยชน์จากการที่หลายบริษัทกระจายความเสี่ยงการผลิตชิป จึงเลือกมาตั้งฐานที่มาเลเซีย จนการจราจรบริเวณปีนังติดขัด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังขยายถนน และคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า

ด้านทิม อาร์เชอร์ (Tim Archer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทผลิตชิป Lam Research กล่าวว่า ปัจจุบัน มาเลเซียกลายเป็น 1 ใน 3 ของฮับผลิตชิปในเอเชีย ควบคู่กับไต้หวันและเกาหลีใต้

ส่วนเถียน อู๋ (Tien Wu) ซีอีโอบริษัท ASE Tech Holding ผู้ให้บริการประกอบเซมิคอนดักเตอร์ ระบุว่า ขณะนี้บริษัทกำลังขยายการผลิตในมาเลเซียเพื่อกระจายฐานการผลิตของตน

Eastspring Investments บริษัทจัดการด้านการลงทุน และ PwC Singapore บริษัทด้านการตรวจสอบบัญชี คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 7% โดยมีเป้าหมายไปถึงมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2571

โดยสรุป จากจุดแข็งของมาเลเซียดังที่กล่าวมา ไม่ว่าการเป็นฐานผลิตชิปมาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2515 แรงงานมีฝีมือและมีค่าแรงไม่สูงนักเมื่อเทียบกับฐานผลิตคู่แข่ง บวกกับการสนับสนุนจากรัฐบาลจนเกิดบริษัทชิปของประเทศได้สำเร็จ จึงทำให้ “มาเลเซีย” มีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางชิปที่โดดเด่นของอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของมาเลเซียไม่ได้หมายความว่า ไทยจะตามไม่ทัน เพราะความสามารถด้านชิปที่มาเลเซียทำได้ตอนนี้คือ “การประกอบและทดสอบชิป” จึงยังพอมีโอกาสให้ไทยจะไล่ตามทัน

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีพื้นฐานด้านการประกอบชิปอยู่แล้ว หากรัฐบาลใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จ้างบุคลากรเก่ง ๆ จากต่างประเทศพร้อมร่วมมือกับเอกชน รวมถึงเปิดเสรีเศรษฐกิจเชื่อมความร่วมมือด้านชิปกับต่างชาติ ก็จะช่วยให้ไทยพอไล่ตามมาเลเซีย และกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีได้

อ้างอิง: nikkeimsiatechovedasftxfabinvestpenangcnbcbangkokbiznews