ไทยเนื้อหอม! EV ต่างชาติแห่ลงทุน ลุ้นขึ้นแท่น ‘ฮับอาเซียน’
ประเทศไทยกำลังเป็นที่หมายปองของต่างชาติ หลายบริษัทต่างพากันเข้ามาลงทุนด้าน EV ในไทย อะไรเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ไทยโดดเด่นด้าน EV มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จนอาจก้าวขึ้นมาเป็นฮับ EV ของอาเซียนได้
Key Points
- ระบบโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนามยังไม่เพียบพร้อมเท่าไทย รวมไปถึงเวียดนามยังเป็นพื้นที่ปะทะกับพายุไต้ฝุ่นโดยตรง
- ไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการใช้รถ EV มากที่สุดอันดับ 9 ของโลก แซงหน้าเวียดนามอันดับ 14 และอินโดนีเซียอันดับ 13
- ไทยขึ้นเป็นประเทศที่มียอดขายรถ EV สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนเกือบ 60%
ปัจจุบัน ไทยกำลัง “เนื้อหอม” สำหรับต่างชาติในการเป็นฐานผลิตรถ EV ดังจะเห็นได้จากเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล (Changan Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนได้ประกาศลงทุนในไทยเป็นจำนวนเม็ดเงิน 9,800 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถ EV พวงมาลัยขวา ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทที่อยู่นอกประเทศจีน ด้วยกำลังการผลิตระยะแรก 1 แสนคันต่อปี
นอกจากนี้ GAC AION ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่เบอร์ 3 ของจีน ก็ประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในไทย 6,400 ล้านบาทเช่นกัน
ก่อนหน้านี้มีหลายบริษัทต่างชาติที่แห่เข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตรถ EV ในไทย นำโดยบริษัทรถยนต์แบรนด์จีนอย่าง Great Wall Motor (GWM), Dongfeng , Neta และ BYD
ขณะที่ Foxconn ผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวันร่วมทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่พลังงานของไทย พร้อมกับเลือกไทยและสหรัฐเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนั้น บริษัทรถยนต์ค่ายจีนอย่าง Geely, JAC, JMC ก็มีแผนจะมาตั้งฐานผลิต EV ในไทยเช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์รถยนต์สหรัฐอย่าง Ford ที่ประกาศลงทุนอัปเกรดโรงงานในไทยกว่า 900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 30,700 ล้านบาทเมื่อปี 2564
นับเป็นมูลค่าลงทุนในไทยครั้งใหญ่ที่สุดของ Ford เพื่อรองรับการผลิตรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างรถกระบะ Ford Ranger EV และรถอเนกประสงค์ Ford Everest EV พร้อมจ้างงานอีก 1,250 ตำแหน่ง
อีกทั้งยังมีบริษัท Tesla ของสหรัฐที่เข้ามาเปิดตลาด EV ในไทยเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และ Mercedes-Benz ค่ายรถยนต์จากเยอรมนีก็ประกาศตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ EV ที่ไทยเมื่อปี 2564
- ไทยเตรียมขึ้นสู่ฮับ EV แห่งอาเซียน (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) -
คำถามที่น่าสนใจในขณะนี้คือ อะไรเป็น “จุดแข็งของไทย” ที่ทำให้บริษัทต่างชาติเหล่านี้ตัดสินใจแห่เข้ามาลงทุนด้าน EV ในไทย ซึ่งอาจสรุปคำตอบได้ 3 ข้อดังนี้
1. ไทยมีฐานการผลิตรถที่แข็งแกร่ง
เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปสำหรับค่ายรถญี่ปุ่นมายาวนาน จึงทำให้แรงงานไทยมีประสบการณ์ด้านการผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถ รวมถึงไทยยังส่งออกชิ้นส่วนรถไปขายต่างประเทศด้วย ดังนั้น ถ้าค่ายรถจีนและค่ายรถตะวันตกเข้ามาตั้งฐานผลิตที่ไทย ทักษะแรงงานไทยก็สามารถรับหน้าที่นี้ได้ไม่ยาก
- การประกอบรถ EV (เครดิต: Shutterstock) -
นอกจากแรงงานไทยที่มีประสบการณ์แล้ว ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากจำนวนสถานีชาร์จรถ EV ในไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่คอนโดบางแห่ง
ข้อมูลอย่างเป็นทางการปี 2565 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จำนวนสถานีชาร์จรถ EV ในไทยปัจจุบัน มีจำนวน 944 สถานี โดยบริษัทพลังงานมหานคร ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA มีจำนวนสถานีมากที่สุด 417 สถานี และจำนวนสถานีเหล่านี้ ก็กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
- สถานีชาร์จรถ EV (เครดิต: Shutterstock) -
นอกจากนี้ “ไทยยังตั้งอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ที่โดดเด่น” คือ อยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จึงเอื้อต่อการกระจายสินค้า โซนแถบล่างก็ติดอ่าวไทยและทะเลอันดามันซึ่งเอื้อต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ
ยิ่งไปกว่านั้น ถนนหนทางในไทยก็เชื่อมโยงถึงกัน เป็นแผ่นดินเนื้อเดียวกัน ขณะที่อินโดนีเซีย คู่แข่งด้าน EV ไทย มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนเกาะมากถึง 13,677 เกาะ จึงทำให้การขยายถนน โครงข่ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาจไม่เอื้ออำนวยเท่าไทย
- ถนนหนทางที่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ (เครดิต: @ jcomp/ Freepik) -
ส่วนเวียดนาม ประเทศที่กำลังเติบโตเร็ว และเป็นคู่แข่งกับไทยในด้าน EV ก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทัดเทียมเท่าไทย
เมื่อปลายปีที่แล้ว สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Shad Sarntisart ในประเด็นโครงสร้างพื้นฐานเวียดนามว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมไปถึงโลจิสติกส์ต่าง ๆ ในเวียดนาม ยังไม่เพียบพร้อมเท่ากับไทย รวมไปถึงเวียดนามยังเป็นพื้นที่ปะทะกับพายุไต้ฝุ่นโดยตรง เนื่องจากอยู่ติดทะเลจีนใต้ ขณะที่ไทยตั้งอยู่โซนใน ซึ่งมีลาวปกป้องอีกชั้น พายุที่เข้ามาก็จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแทน จึงทำให้ผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยเบากว่าเวียดนาม
จุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทาง EV ของไทยยังถูกตอกย้ำจากเมื่อปีที่แล้ว อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล (Arthur D. Little) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการองค์กรระดับโลก ได้เผยแพร่ ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index-GEMRIX) พบว่า “ประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการใช้รถ EV มากที่สุด” คือ สวีเดน ตามมาด้วย จีน เยอรมนี และสิงคโปร์ตามลำดับ
“ในขณะที่ไทยขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 9 ของโลก” ในกลุ่มประเทศตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเกิดใหม่ แซงหน้าเวียดนามอันดับ 14 และอินโดนีเซียอันดับ 13 ซึ่งสองประเทศนี้อยู่ในระยะตั้งไข่ด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้า
2. ไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อต่างชาติ
ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ระหว่างขั้วจีนกับขั้วสหรัฐ ทั้งสองมหาอำนาจต่างตอบโต้กันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐประกาศแบนโดรน DJI ของจีน เตรียมแบน Tiktok แอปฯ โซเชียลมีเดียแบบวิดีโอสั้น รวมถึงปิดกั้นการส่งออกชิปสำคัญให้จีน ขณะเดียวกัน จีนก็ตอบโต้ด้วยการทบทวนการนำเข้าชิป Micron จากสหรัฐ
สถานการณ์นี้ส่งผลให้บรรดาบริษัทเอกชนที่ค้าขายกับทั้งจีนและสหรัฐต่างรู้สึกอึดอัดใจ และกังวลใจว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว
ในโลกที่ถูกแบ่งขั้วนี้ รัฐบาลไทยเลือกวางตัวเป็นกลาง เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ รวมถึงชาวไทยยังมีอัธยาศัยที่ดีต่อชาวต่างชาติ สิ่งนี้จึงทำให้ไทยเปรียบเหมือน “หลุมหลบภัย” จากความขัดแย้ง และสงครามการค้าได้ บริษัทต่างชาติหลายแห่งจึงตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ไทย เพื่อกระจายความเสี่ยง
ดังจะเห็นได้จากเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ ก็เล็งย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มด้วย โดยจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ในวันที่ 16 มี.ค. 66 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นหรือเคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มขึ้นด้วย
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นมองว่าไทยเหมาะสมสำหรับการเป็นฐานผลิตยานยนต์ อย่างเมื่อปี 2563 บริษัท Nissan Motor ประกาศปิดโรงงานที่สเปนและอินโดนีเซีย แต่ยังเก็บไทย “เป็นฐานผลิตแห่งเดียวในอาเซียน”
- ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI (เครดิต: TDRI) -
3. การสนับสนุนจากรัฐบาลไทย
ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ออกนโยบายส่งเสริมรถ EV ในประเทศ ที่ชื่อว่า “นโยบาย 30@30” โดยตั้งเป้าหมายว่า จะผลิตรถ EV หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อพาไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และขึ้นเป็นฮับผลิตรถ EV ของภูมิภาคอาเซียน ผ่านมาตรการรัฐดังนี้
- ส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) พร้อมโน้มน้าวให้บริษัทยานยนต์ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย
- สนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมถึงให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในไทย
- ให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน เพื่อให้ราคารถ EV ลดลงใกล้เคียงกับราคารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน
- ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เป็น 2% และรถกระบะไฟฟ้าเป็น 0% มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. ปี 2568
- ลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
- ยกเว้นอากรศุลกากรชิ้นส่วนรถ EV 9 รายการ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยถือว่าเป็นตลาดรถ EV ที่มีความโดดเด่นที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมามีค่ายรถผู้ผลิตรถ EV ระดับโลกที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้เข้ามาเปิดตัวทำตลาดในประเทศไทยจำนวนมาก
การสนับสนุนด้าน EV จากภาครัฐดังกล่าว ช่วยดึงดูดบริษัทต่างชาติต่าง ๆ เข้ามาลงทุน และทำให้ไทยขึ้นเป็นประเทศที่มียอดขายรถ EV สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนเกือบ 60% ตามข้อมูลจากผลวิจัย Global Passenger Electric Vehicle Model Sales Tracker ของ Counterpoint Research ปี 2565
ต้องจับตา 2 คู่แข่ง “เวียดนาม-อินโดนีเซีย”
แม้ไทยจะขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้าน EV ที่โดดเด่นที่สุดในอาเซียน แต่อย่าเพิ่งรีบวางใจ เนื่องจากคู่แข่งหลักด้าน EV อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซียก็พัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั้งสองประเทศนี้มีค่าแรงที่ถูกกว่าไทย แม้ทักษะแรงงานอาจยังไม่สามารถเทียบเท่าไทยก็ตาม
เวียดนามเป็นประเทศที่เติบโตเร็ว มีบริษัทรถยักษ์ใหญ่ VinFast เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังได้เม็ดเงินด้านการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมจากบริษัทต่างชาติ
ขณะที่อินโดนีเซียก็มีแร่จำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าอย่างนิกเกิล รวมทั้งมีตลาดที่ใหญ่ จากประชากรที่มากที่สุดในอาเซียน ราว 273 ล้านคน
ดังนั้น แม้ไทยจะมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมกว่า แรงงานมีฝีมือ และตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่โดดเด่น แต่ไทยยังคงจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถนี้อย่างไม่หยุดยั้ง พยายามเรียนรู้การสร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งที่โดดเด่นด้าน EV ในอาเซียนนี้ต่อไปได้
อ้างอิง: nikkei, mgronline, thansettakij, thansettakij(2), adlittle, krungsri, thaigov, thaigov(2), bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), bangkokbiznews(3), ratchakitcha, counterpointresearch, pttplc