จาก "มงแตญ" นักคิดแนวเสรีนิยมก้าวหน้าถึง เสรีนิยม และ อิสระนิยม

จาก "มงแตญ" นักคิดแนวเสรีนิยมก้าวหน้าถึง เสรีนิยม และ อิสระนิยม

มิเชล เดอ มงแตญ (ค.ศ. 1533-1592) นักเขียนชาวฝรั่งเศสในยุค 400 กว่าปีที่แล้ว เป็นนักคิดแนวเสรีนิยมก้าวหน้าที่มาก่อนกาลจริงๆ

ทั้งๆ ที่เขาอยู่ในปลายยุคกลางที่กษัตริย์ ฟิวดัลลอร์ด (เจ้าที่ดินใหญ่) และองค์กรคริสตจักรมีอำนาจมากและจารีตนิยมมาก ก่อนหน้ายุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล และยุคการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 

ผลงานเขียน Essays (บททดลองนำเสนอ) ของมงแตญเป็นบทวิจารณ์เรื่องชีวิตและสังคมในยุคนั้นทั้งคมคายทั้งก้าวหน้าล้ำยุค  เป็นแนวคิดค่อนไปทางแบบเสรีนิยมที่ใจกว้าง (Liberalism) ในสังคมยุคราชาธิปไตยที่แนวคิดกระแสหลักคือจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม (Conservativism)

มงแตญเป็นนักอ่าน นักศึกษา ที่หัวก้าวหน้ามองโลกอย่างวิจารณ์ อยากแสวงหาความจริงและความหมายที่ดีในชีวิตมนุษย์ เขาพยายามมองปัญหาต่างๆ อย่างวิพากษ์ตรงไปตรงมา

เป็นนักเขียนคนแรกๆในโลกยุคจารีตนิยม ที่เข้าใจและเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม มองว่ามนุษย์หรือแม้แต่สัตว์ต่างมีสมบัติหลักที่คล้ายกัน แม้จะมีความแตกต่างในเรื่องอื่นๆ ก็ตาม 

แนวคิดของมงแตญโดดเด่นในเรื่องความอดทน ใจกว้าง การมองปัญหาแบบทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง ในยุคสมัยที่สังคมฝรั่งเศสมีความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและศาสนาคริสต์นิกายต่างกันที่ สูงมาก ยุคสมัยของความรุนแรง ความโหดร้าย และการยึดถือแนวคิดแบบสุดโต่งที่ต่างฝ่ายต่างใช้กำลังกำจัดคนคิดต่างจากพวกตน

มงแตญเขียนหนังสือความเรียงในหัวข้อต่างๆ แบบตั้งคำถามและหาคำตอบสำหรับตัวเขาเอง แต่เป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่าและมีนัยหมายถึงว่า ผู้อ่านควรจะตัดสินใจเลือกหนทางที่ฉลาด เข้าใจตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ประพฤติตนอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างดีและมีจิตใจที่สงบสุขได้อย่างไร

นั่นก็คือ การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย งานเขียนของมงแตญ ผู้มาก่อนกาลนั้น มีเนื้อหาสาระและยังทันสมัยในยุคปัจจุบันในโลกส่วนที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังล้าหลังและมีปัญหาในหลายเรื่องอย่างน่าทึ่ง

งานเขียนของมงแตญเป็นที่นิยมอ่านและได้รับการยกย่องสูงทั้งในยุคของเขาและยุคต่อมา มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ มีการพิมพ์ซ้ำและมีคนอ่านกันมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งเพราะเขาเขียนหนังสือได้อย่างคมคาย สละสลวย มีเหตุผล กล้าหาญ ซื่อตรง มีอารมณ์ขันและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆ ในยุคของเขาหรือยุคใกล้กัน 

งานเขียนของมงแตญ (ที่แปลสู่ภาษาต่างๆ ในยุโรป) มีอิทธิพลต่อทั้งนักคิดนักเขียนฝรั่งเศสยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล เช่น เดสคาร์ต, ปาสคาล, วอลแตร, รุสโซ บัสซัค และคนอื่นๆ นักคิดนักเขียนในอังกฤษ เช่น ฟรานซิส เบคอน, เชคสเปียร์ นักคิดนักเขียนอเมริกัน เช่น ราล์ฟวอลโด อีเมอร์สัน 

คติและขบวนการที่ได้ชื่อว่า Liberalism (เสรีนิยม) นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากยุคของมงแตญในอีก 100-200 ปีต่อมา ในยุคที่ยุโรปเริ่มพัฒนาทุนนิยมการค้า มีชนชั้นเจ้าที่ดิน พ่อค้า นายทุน ที่เริ่มเติบโตและอยากท้าทายแบ่งปันอำนาจกับพวกกษัตริย์ ยุคของนักคิดหัวก้าวหน้าในศตวรรษที่ 17-18

อย่าง จอห์น ล็อค (1632-1704) มองเตสกิเออร์ (1689-1755) อิมมานูเอล คานท์ (1724-1804) จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1836-1873) และคนอื่นๆ ยุคของการปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 

Liberalism – คติเสรีนิยม เชื่อว่าการให้ปัจเจกชนมีเสรีภาพทั้งในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความประสานกลมเกลียวในสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดของสังคม

คตินี้คัดค้านคติศักดินานิยม รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สนับสนุนเสรีภาพในเรื่องความเชื่อทางการเมือง การสมาคม หนังสือพิมพ์ ศาสนา การเลือกที่อยู่อาศัย การแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดเสรี

แนวคิดเสรีนิยมที่นิยมเรื่องเหตุผล เสรีภาพ ประชาธิปไตย นั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจสังคมในรอบ 250 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก

โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม แนวคิดเสรีนิยมมีข้อจำกัดจุดอ่อนคือ โดยสภาพสังคมที่เป็นจริงแล้วเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยของเจ้าที่ดินและนายทุนที่เป็นคนส่วนน้อย มากกว่าสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ 

ตั้งแต่ยุคปฏิวัติประชาธิปไตยแบบนายทุนในปลายศตวรรษที่ 18 ประชาชนชั้นล่างยังคงต้องต่อสู้ต่อรองกับชนชั้นสูงต่อมามาอีกนับร้อยปี ได้เกิดแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) อิสระนิยม (Libertarianism) และสังคมนิยมแนวอิสระเสรี (Libertarian Socialism) ที่ก้าวหน้าและครอบคลุมถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาสของคนส่วนใหญ่ มากกว่าแนวคิดเสรีนิยมแบบทั่วไป (แบบนายทุน)

แนวคิดเสรีนิยมและอิสระนิยมเหล่านี้ทำให้ยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ พัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปได้ไกลกว่าไทย

คือมีการพัฒนาทางด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม ในแนวเสรีประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่เสรีทางเศรษฐกิจเท่านั้น จนถึงปัจจุบันถึงไทยจะมีระบบเศรษฐกิจแนวตลาดเสรี (ทุนนิยม)

แต่คนไทยส่วนใหญ่หรือจำนวนมากยังคงมีแนวคิดแบบหัวเก่าจารีตนิยม พยายามรักษาของเดิมที่เชื่อด้วยศรัทธา ด้วยอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าด้วยเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะชนชั้นนำไทยมีลักษณะล้าหลังและเห็นแก่ตัว (ระยะสั้น) มาก

พวกเขาสร้างปัญหาให้สังคมไทยล้าหลังและมีความขัดแย้งทั้งระหว่างประเทศและระหว่างชนชั้นกลุ่มต่างๆ มาก 

ชนชั้นนำไทยอาจจะเสรีนิยมในแง่เศรษฐกิจคือส่งเสริมทุนนิยมข้ามชาติเต็มที่ เพราะสอดคล้องกับการขยายตัวของทุนนิยมโลก และชนชั้นนำไทยได้ผลประโยชน์

แต่สังคมไทยไม่มีการพัฒนาเสรีนิยมทางการเมืองและทางสังคมเลย การศึกษา วัฒนธรรม ต่างๆ ของไทย ยังคงเป็นจารีตนิยมที่ปฏิกิริยาล้าหลัง 

ประเทศไทยเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเสรีนิยมทางการเมืองและทางสังคมควบคู่กันไป เพราะไทยเป็นทุนนิยมที่มาทีหลัง เป็นทุนนิยมในระบบพึ่งพาหรือเป็นบริวารทุนจากต่างชาติ (และทุนใหญ่ในชาติเอง)

เศรษฐกิจสังคมไทยเจริญเติบโตทางวัตถุในระดับหนึ่ง แต่กลับสร้างความขัดแย้งในสังคมและกลุ่มชนต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจสังคมไทยพัฒนาได้ไม่ทั่วถึงทั้งระบบ ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ

เราควรจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และแนวคิดแบบเสรีนิยมในยุโรปและที่อื่นๆ ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงในสังคมไทยที่มีทั้งลักษณะร่วมและรักษาเฉพาะ หาทางพัฒนาแนวคิดของคนไทยส่วนใหญ่ให้ก้าวหน้า (เช่น เป็นเสรีนิยมที่ใจกว้าง เชื่อเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสังคมด้วย)

ทันสังคมโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันในหมู่ประเทศและประชาชนกลุ่มต่างๆ สูง และสังคมมีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง วิกฤติสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม เราถึงจะพัฒนาประเทศไทยได้มากกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน