การศึกษาแบบเสรีนิยมของมงแตญ | วิทยากร เชียงกูล
มิ เชล เดอ มงแตญ (ค.ศ.1533-1592) นักคิด นักเขียนชาวฝรั่งเศส ยุค 400 กว่าปีมาแล้ว คือยุคราชาธิปไตยและองค์กรคริสตจักรยังเรืองอำนาจ แนวคิดเรื่องการศึกษาของเขายังก้าวหน้ากว่านักการศึกษาและคนไทยส่วนใหญ่ในโลกยุคใหม่อย่างน่าสนใจมาก
“ครูพี่เลี้ยง (Tutor) ควรจะเน้นเรื่องจริยธรรมที่ดีและความเข้าใจอย่างเข้มแข็งว่า การเรียนรู้จากหนังสือล้วนๆ นั้น ครูไม่สามารถให้เด็กได้มากไปกว่าที่เขาจะจัดการได้ วิธีที่ดีที่สุดคือสอนให้เด็กมีจิตสำนึกที่จะรับรู้ต่อเรื่องต่างๆ และคิดต่อได้ด้วยตัวของเขาเอง”
“ระหว่างครูและนักเรียน ควรจะมีการสนทนาแลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียม ครูควรจะติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนและปรับกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการที่จำเป็นของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะที่เขาเจริญเติบโตขึ้น”
“หลีกเลี่ยงการสอนแบบให้นักเรียนคายข้อมูลออกมา และตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในระหว่างทาง ช่วยให้พวกเด็กๆ สามารถที่จะมองสิ่งต่างๆ จากหลายมุมมองได้ ถ้ากระบวนการเรียนเรื่องหนึ่งเรื่องใดยากเกินไปจนการเรียนไม่คืบหน้า นักเรียนจะพลอยเกลียดชังการเรียนทั้งหมดไปด้วย”
“ควรฝึกให้นักเรียนรู้จักที่จะตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเขา ไม่ใช่แค่อ้างคำพูดของคนที่สังคมถือว่าเป็นผู้มีสิทธิ์อำนาจที่น่าเชื่อถือ ถ้านักเรียนทำได้แค่อย่างหลัง ความคิดจิตใจของเขาจะถูกแช่แข็งไว้ และเขาจะรู้สึกว่าเขารู้ทุกอย่างแล้ว เขาจะหยุดมองหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งเท่ากับว่าเขาจะหยุดการค้นพบอะไรใหม่ๆ ด้วย”
“การเรียนรู้ที่แท้จริงและภูมิปัญญามาจากการที่คุณสามารถรู้จักหยิบยกเรื่องที่คุณอ่านมาผสมผสานเข้ากับความคิดของคุณออกมาเป็นความรู้ใหม่ คุณไม่ควรอ้างว่าคุณอ่านหนังสืออะไรมาบ้าง
สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือว่า หนังสือเหล่านี้ช่วยให้คุณคิดอะไรได้ ความเข้าใจช่วยปรับปรุงการรับรู้และการรับรู้นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกสิ่งที่คุณทำ และการเรียนรู้ในอนาคตของคุณ”
“การเดินทางออกไปทัศนศึกษานอกบ้านเป็นเรื่องสำคัญมาก โลกคือที่ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจริง ดังนั้นการให้เด็กเรียนอยู่แต่ในห้องๆ หนึ่ง จะทำให้ความรู้กลายเป็นเรื่องที่เล็กลง เพราะว่าเขาจะไม่ได้ประสบการณ์โดยตรง และจะไม่สามารถใช้การเรียนรู้ให้เป็นประโยชน์ได้ในทันที”
“เป็นเรื่องสำคัญที่จะแยกเด็กๆ ออกมาจากการที่พ่อแม่เอาใจใส่ประคบประหงมพวกเขามากจนเกินไป พวกเด็กๆ จะกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่มากไป และจะไม่ได้ลงมือทำงานเอง ไม่ได้ประสบกับเรื่องอุปสรรคความยุ่งยากที่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตจริง
เพื่อที่ครูพี่เลี้ยงจะสอนอย่างได้ผล ควรจะกำหนดให้พ่อแม่ต้องแยกตัวออกไปในช่วงที่ครูทำหน้าที่สอนอยู่ เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องสิทธิอำนาจระหว่างพ่อแม่และครู”
“โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะสนใจเน้นแต่เรื่องความคิด ความรู้ และความปรารถนาของเขา และไม่สนใจมากพอว่าเราอาจจะเรียนรู้จากคนอื่นได้อย่างไร เพื่อที่จะเรียนรู้จากคนอื่น เราควรฝึกความถ่อมตัวและรู้จักเงียบ เพื่อที่จะเป็นฝ่ายรับฟังคนอื่น ในการโต้แย้งกัน
ควรจะมีการกำหนดประเด็นและทำกันด้วยความสุภาพ เอาใจใส่ สั้นๆ และอดทน อย่างไรก็ตาม เราจะต้องชูความจริงแท้ไว้สูงสุด เพื่อที่ถ้าคุณรู้สึกว่าการโต้แย้งของคุณเป็นฝ่ายผิด คุณจะได้ยอมรับการยอมแพ้ได้”
“การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเรื่องในอดีตมีบทเรียนหลายบทที่จะสอนให้เราเอาไปปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ มีบุคคลในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่เป็นตัวอย่างให้เราติดตามอย่างหรือปฏิเสธที่จะเป็นแบบเขา การเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและสถานการณ์ของพวกเขา จะช่วยให้เราสามารถเกิดปัญญาที่เข้าใจยุคสมัยของเขาและผู้คนในยุคปัจจุบันได้”
“การศึกษาศิลปศาสตร์แบบเสรีนิยม (Liberal Arts) เป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยปูทางการเรียนรู้ที่แท้จริงว่าเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร และได้เห็นตัวอย่างว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร การเรียนรู้จิตสำนึกเรื่องจริยธรรมควบคู่ไปกับการรู้จักใช้หลักเหตุผล (ตรรกวิทยา) และการเข้าใจเรื่องโลกทางกายภาพ
ผู้ที่ได้เรียนทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์กายภาพและเรื่องจริยธรรมอย่างเชี่ยวชาญชาญ จะไม่มีอะไรหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของเขาได้ วิชาพลศึกษาก็สำคัญ เพราะว่าการมีร่างกายที่แข็งแรงช่วยเสริมความคิดจิตใจที่แข็งแรงด้วย สิ่งเหล่านี้ควรรวมถึงการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจในแนวทางสายกลาง (ไม่สุดโต่ง) เพื่อปกป้องตัวเราเอง”
(การศึกษาศิลปศาสตร์แบบเสรีนิยมคือ การศึกษาวิชาพื้นฐานความรู้ที่สำคัญเพื่อเข้าใจทั้งเรื่องชีวิตและสังคมอย่างบูรณาการแบบเสรีนิยม คือเปิดใจกว้างเรียนรู้อย่างคิดวิเคราะห์เป็น)
“หลีกเลี่ยงการสนทนาแบบคุยเรื่อยเปื่อย ไร้สาระ การสนทนาอาจไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องหนักๆ อย่างเอาจริงเอาจัง แต่เราควรจะได้ประโยชน์จากการสนทนามากกว่าแค่ความเพลิดเพลิน การสนทนาที่มีประโยชน์ควรช่วยให้ผู้ร่วมสนทนาเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตของเขาให้ดีขึ้น ผ่านความคิดและประสบการณ์ของคนอื่น
นี่หมายความว่าคนที่อยากเรียนรู้ต้องเดินทางออกไปนอกบ้านและพูดคุยกับคนอื่นๆ ในโลก เขาอาจจะต้องเรียนภาษาอื่นด้วย เพื่อจะได้สนทนากับผู้คนที่มีวัฒนธรรมและอุปนิสัยใจคอแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากพวกเขา”
“เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้สนุก เพื่อให้นักเรียนสนใจและได้เรียนรู้หลายแบบวิธี ควรจะรวมทั้งกิจกรรมกีฬา การเล่นเกม และการหัวเราะ ที่ไม่ใช่เพียงแต่จะดึงให้นักเรียนเข้ามามีส่วนรวม แต่จะทำให้พวกเขาเป็นคนที่พัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน
การเอาใจเด็กมากเกินไปเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่การทำให้เด็กเป็นนักโทษในคุกที่เรียกว่า “โรงเรียน” เป็นสิ่งที่เลวร้ายมากกว่า การตีและดุด่าตำหนิเด็กจะไม่ช่วยให้พวกเขาอยากเรียนรู้”
“การสอนให้เด็กรู้ว่าเขายังขาดความรู้ในอีกหลายเรื่อง และการทำให้เด็กหิวกระหายอยากรู้ อยากเข้าใจ มากขึ้น จะทำให้เด็กอยากเรียนรู้ในเชิงปรัชญาไปตลอดชีวิต เพราะว่าเขาจะอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่างๆ ที่เขามั่นใจว่าเขายังไม่รู้ นั่นจะทำให้เขารู้จักถ่อมตนที่จะอยากเรียนรู้มากขึ้น การเรียนรู้จากหนังสือก็ดีและสวยงาม แต่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงมีความหมายมากกว่านั้นมาก”.