วงการการศึกษาไทย หันมาเลิกทำการวิจัยในชั้นเรียน ในแบบที่นิยมทำกันเถอะ
ปัจจุบันนี้ เวลาครูในโรงเรียนนึกที่จะเริ่มทำการวิจัยในชั้นเรียน ในห้องเรียนของตนเอง ก็จะนึกถึงหลักการของการทำวิจัยที่ตนเองเคยเรียนมา เคยได้เห็น ได้อ่านมา ตั้งแต่สมัยเรียนในหลักสูตรผลิตครู หรือระหว่างตอนเป็นครูใหม่
หลักการเหล่านี้ ก็จะหนีไม่พ้น การเริ่มต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เราต้องการจะแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น และมาหาวิธีการในการพัฒนาสิ่งนั้น เช่น เสาะหาวิธีการสอนแนวใหม่และนำมาลองใช้ หรือเลือกสรรสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีอยู่ และมาพัฒนาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตน เป็นต้น
การเริ่มต้นทำวิจัยในชั้นเรียนของครูด้วยหลักการนี้ ทว่าก็ดูเป็นประโยชน์กับนักเรียนในภาพรวม ไม่ว่าผลที่วัดจากพัฒนาการของเด็กจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เนื่องมาจากว่า ครูมีการพัฒนาการสอนของตนเอง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก มีการปรับการสอนจากแบบเดิมๆ
เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ เด็กนักเรียนอาจจะเรียนรู้ได้น้อยลง จากการสอนของครูที่เปลี่ยนไปก็ได้
นั่นคือ ความตั้งใจดีในการปรับการสอน ปรับสื่อการสอนของครู อาจไม่ได้ส่งผลที่ดีต่อนักเรียนในภาพรวมก็เป็นได้ แต่แน่นอนว่าครูได้เกิดการเรียนรู้จากสถานการณ์ที่ดูผิวเผินว่าเป็นการล้มเหลวนี้อย่างแน่นอน
การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการการศึกษาบ้านเรา จะเห็นว่าการตีพิมพ์ผลการทำวิจัยในชั้นเรียนในปัจจุบันของครูหรือนักการศึกษา เต็มไปด้วยความพยายามในการอธิบายว่าการสอนนั้น ให้ผลดีอย่างไร
หากการเรียนรู้ของนักเรียนในเชิงตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงไปก่อน-หลังสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นไปตามที่ผู้วิจัยคาดหวังแต่ต้น จะเป็นที่รับรู้กันในใจทั้งฝ่ายผู้ประเมินผลงานวิจัย
อีกทั้งผู้วิจัยว่างานนั้น เป็นงานที่ประสบความสำเร็จ น่าเชื่อถือ มีโอกาสในการได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ผลงานจากวารสารวิชาการไทยสูง เนื่องมาจากเข้ารูปแบบงานวิจัยที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่นักการศึกษาได้ทำสืบทอดกันมากว่า 40 ปี
ในทางกลับกัน หากการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของนักเรียนในเชิงตัวเลขไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้วิจัยจะพยายามอย่างสูงในการเขียนเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ทำให้นักเรียนยังไม่สามารถไปถึงจุดที่คาดหวัง
อาทิเช่น ความไม่พร้อมของนักเรียน ระยะเวลาในการสอนของครู ความไม่สมบูรณ์ของการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน ที่ทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทิศทางบวกได้
จะเห็นได้ว่า การเขียนบรรยายเพิ่มเติมในลักษณะนี้ สื่อถึงความไม่ยืดหยุ่นทางความคิดของผู้วิจัย ผู้ซึ่งปักธงไว้ในใจตั้งแต่ก่อนเริ่มทำวิจัยแล้วว่า การสอนหรือสื่อการสอนที่เราคัดสรรมานั้น มีประสิทธิภาพที่ดีอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะดีในบริบทอื่น มากกว่าบริบทที่ผู้วิจัยได้ทำการเก็บข้อมูล
จึงมีการกล่าวอ้างว่าบริบทอื่น (นักเรียนต้องเป็นอย่างไร ต้องมีเวลาการสอนเท่าไหร่ ต้องมีการประเมินแบบหลากหลาย เป็นต้น) ที่การสอนหรือการปฏิบัตินั้นๆ จะเกิดผลในทางบวกกับนักเรียน จะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างนี้ มักจะเป็นการกล่าวอ้างในเชิงการแสดงความคิดเห็น ว่าผู้สอนสามารถทำสิ่งใดให้ดีขึ้นได้ เป็นการสะท้อนคิดของผู้สอนที่ไม่ได้มีการอ้างอิงจากข้อมูลจริงจากบริบทของผู้วิจัยเอง
อาจกล่าวได้ว่า กรอบการทำและเขียนวิจัยทางการศึกษาในลักษณะนี้ ไม่สร้างสรรค์พอที่จะทำให้ผลการวิจัยทางการศึกษาในประเทศไทยเรามีประโยชน์เป็นวงกว้าง
นักวิชาการที่สนใจงานในลักษณะคล้ายกัน ไม่สามารถต่อยอดผลการวิจัยของกันและกันได้ เพราะเราทราบแต่เพียงว่าการปฏิบัติ X ให้ผลดีต่อพัฒนาการของนักเรียนในเชิงตัวเลข
ในบริบทที่เฉพาะนั้นๆ จึงมักไม่เกิดการร่วมมือกันระหว่างนักการศึกษาไทย ไม่ได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทำงานวิจัยที่ซับซ้อน ให้ทัดเทียมกับการเรียนรู้ของมนุษย์ซึ่งมีความซับซ้อนได้
เราจะก้าวข้ามจากจุดนี้ได้อย่างไร?
เริ่มจากการเปิดใจ ยอมรับว่าการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นซับซ้อน ซึ่งหมายถึงว่ามีทั้งด้านบวกและด้านลบ หน้าที่ปลายทางของผู้วิจัย คือการทำความเข้าใจการเรียนรู้นั้นให้ลึกซึ้งขึ้น
และแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในฐานะผู้วิจัย ให้คนภายนอกหรือคนในวงการเดียวกันรับทราบอย่างตรงไปตรงมา ชุมชนนักการศึกษาเองก็ต้องเปิดใจยอมรับการนำเสนอข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ด้วย ซึ่งอาจเป็นลักษณะของ
1. การอธิบาย พรรณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ของนักเรียน ที่มากกว่าการอธิบายด้วยตัวเลขที่ได้จากแบบทดสอบหรือแบบวัด
หรืออีกวิธีหนึ่งคือ 2. การเปลี่ยนมุมมองในการอธิบาย ให้ย้ายจากการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้ของนักเรียน มาที่การอธิบายถึงการเรียนรู้ของครู ผู้วิจัยเอง เป็นลักษณะของการสะท้อนคิดสิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการปรับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียน
ทั้งสองวิธีนี้ เป็นการมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ มากกว่าผลลัพธ์ ครูปฏิบัติอย่างไรกับนักเรียนในแต่ละวัน และเด็กเองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ครูได้เรียนรู้และเข้าใจการเรียนรู้ของตนเองอย่างไรบ้าง ในระหว่างทางที่มีการปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบทนักเรียนของตนเอง
นั่นคือ ครู ผู้วิจัย และผู้ประเมินงานวิจัยของครู ควรเปิดกว้างกับการเขียนอธิบายข้อมูลในเชิงคุณภาพ กับการอธิบายสิ่งที่คิดออกมาอย่างอิสระ อย่างตรงไปตรงมา
ท้ายสุดแล้วเป้าหมายที่สำคัญในการทำวิจัย อาจเป็นเพียงให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความซับซ้อนของการเรียนรู้ของมนุษย์ในแบบที่มันเป็น และให้เขาสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปพิจารณา ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสถานการณ์ของตนเองต่อไป
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะสร้างธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ให้กับวงการการศึกษา หันมาให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ ให้ครูหันมาช่วยกันตีแผ่ค่านิยมในความเป็นนักเรียนไทย ระบบโรงเรียนไทย ที่มีทั้งในแง่ดีและแง่ลบที่สามารถไปพัฒนาต่อได้
นั่นหมายความว่าวิธีการสอนที่ใช้ได้ผลดีในบริบทตะวันตก อาจใช้ไม่ได้เลยกับบริบทนักเรียนไทยก็เป็นได้
เราคนไทยทุกคนจะได้ตระหนักในความซับซ้อนจุดนี้ ไม่มีใครเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพได้เป็นอย่างดีในครั้งแรก แต่แน่นอนว่าเราทุกคนต้องผ่านครั้งแรกของความล้มเหลว เพื่อเป็นก้าวถัดไปของการประสบความสำเร็จ เราอาจจะมีความสามารถมากกว่าที่เราคิด
นักวิจัย นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่า การจะทำให้งานวิจัยเชิงคุณภาพให้มีคุณภาพสมชื่อนั้นทำได้ยาก เพราะว่าไม่ได้มีหลักการ กฎเกณฑ์ หรือสถิติตายตัวที่มักใช้กัน
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐาน มีความสามารถในการเขียนอธิบายโดยธรรมชาติ หรือมีความสามารถในการทำวิจัยเชิงคุณภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราทุกคนสามารถสื่อสารความคิดของตนเองออกมาได้
เพียงแต่ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยน เราอาจไม่คุ้นชินกับการทำสิ่งใหม่ รู้สึกไม่มั่นใจ แต่เรามาลองเปิดโอกาสให้ตนเองและคนรอบข้างกันเถอะ เปิดโอกาสให้ครูและนักวิจัยได้สื่อสารความคิดของเขาออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อช่วยกันพัฒนาต่อยอดความรู้กันไปเรื่อย ๆ และนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนต่อไป.