งาน หรือ พันธกิจ ...ความแตกต่าง | วรากรณ์ สามโกเศศ
มองโลก เข้าใจโลกและมีวิธีคิดอย่างไร ล้วนมีผลอย่างสำคัญต่อพฤติกรรมในการทำงานและการสร้างคุณประโยชน์ให้โลก
วันนี้มีหนึ่งข้อเขียนแห่งความสงสัยจากเฟซบุ๊คของ Issariya Sukkeepun และหนึ่งเรื่องเล่าเป็นวัตถุดิบของ “อาหารสมอง” จานนี้
“...ผมแค่สงสัย (?) เมื่อก่อนตอนผมเด็ก ๆ ครูของผมท่านเรียนจบ ปกศ.ต้น ปกศ.สูง ท่านไม่ได้จบปริญญาตรี โท เอก ไม่ได้เป็นดอกเตอร์ ครูของผมท่านไม่มีอบรม ไม่มี child-centered ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่มี backward design, PLC, STEM ฯลฯ
ครูของผมท่านมีเงินเดือนน้อย ไม่กี่ร้อยบาท ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ไม่มีเงินวิทยฐานะ ไม่มีเงินค่าตอบแทน ครูของผมท่านไม่ได้มีตำแหน่ง ไม่มีวิทยฐานะใด ๆ ไม่มี คศ1 / คศ2 / คศ3 / คศ4 ครูผู้ช่วย ครูชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ
ครูของผมมีเพียงชอล์คกับกระดานดำ ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ จานดาวเทียม ทีวี อินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ครูของผมมีห้องเป็นฝาผนังไม้ธรรมดา ใช้ร่มไม้ ลานดิน สนามหญ้าเป็นห้องเรียน ไม่มีห้องสมุดอิเลคโทรนิค ไม่มีห้องคอมพิวเตอร์ ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษาห้องๆๆๆๆ ฯลฯ
แต่ท่านสอนนักเรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา นำพาชีวีมีสุขในสังคม ได้เป็นใหญ่เป็นโต
แต่ปัจจุบัน ครูเรียนจบสูง จบปริญญาตรี โท เอก เป็นดอกเตอร์ ครูอบรมทุก ๆ อย่าง เกียรติบัตร โล่เกียรติคุณ ถ้วยรางวัลเต็มห้อง ครูเงินเดือนเยอะ เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน
ครูมีตำแหน่งสูงขึ้น ครูมีไฮเทคโนโลยีทุก ๆ อย่าง ครูมีห้องแอร์ ห้องปฏิบัติการต่าง ๆมากมาย แต่นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดคำนวณ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์แยกแยะไม่ได้ คุณธรรมจริยธรรมศีลธรรมเสื่อมหายไป
โชว์เรือนร่างทางโซเชียลหายอดไลค์หาเงิน ยกย่องคนฆ่าหั่นศพ แก้ผ้าโชว์ คนที่ทำไม่ดีทางโซเชียลว่าเป็นเน็ตไอดอล เล่นบอลพนันออนไลน์ เสพยา ขายยาเสพติด
ขายตัว มั่วเซ็กส์ ตบตีกันแย่งผัวแย่งเมียตั้งแต่เป็นนักเรียน ตอนเรียนก็อยู่หอเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน ทั้งก่อคดีฆ่าข่มขืน โดดตึกตาย ฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคม อาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง ฯลฯ
อดีตและปัจจุบันสวนทางกัน ตรงกันข้ามกันทุก ๆ อย่าง!!!!!! ครูของผมท่านไม่มีอะไรสักอย่าง สอนอย่างเดียว แต่เด็กเก่งดีมีปัญญาพาชีวีมีสุข ครูของผมสอนเสริมให้ผมฟรี แถมยังทำขนมให้ผมกินอีก
ครูปัจจุบันมีทุกอย่าง ทำทุกอย่าง แต่เด็กมีปัญหา กระทรวงศึกษาธิการทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า? ผมแค่สงสัย! …...”
อะไรที่ทำให้ครูในสองยุคสมัยแตกต่างกันเป็นเรื่องซับซ้อนที่น่าขบคิดอย่างยิ่ง สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งน่าจะอยู่ที่การมองและการเข้าใจของตัวครูเองว่าการเป็นครูนั้นเป็นงาน (job) หรือเป็นพันธกิจ (mission)
งานคือกิจกรรมที่กระทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทน ส่วนพันธกิจนั้นแปลมาจากคำว่า mission โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า missio (การส่งออกไป) ซึ่งหมายถึงชุดของงานซึ่งมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย ในบางยุคเกี่ยวพันกับเรื่องคริสต์ศาสนา
เช่น กลุ่มนักสอนศาสนาเรียกว่า missionary และบางยุคผูกโยงกับเรื่องกลุ่มของทหารไปรบ กลุ่มนักการฑูต กลุ่มทำงานเฉพาะให้บรรลุเป้าหมาย ฯลฯ คนเหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ทั้งสิ้น
คนทำมาหาเลี้ยงชีพแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทแรก ทำงานเพื่อหารายได้ มิได้มีความภาคภูมิใจหรือมีความสุขจากงานที่ทำ แต่ละวันทำงานเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษางานไว้
ประเภทสอง แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ โดยมองว่างานที่ทำเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพ โดยมีเงิน มีอำนาจและมีหน้ามีตายิ่งขึ้น
ประเภทสาม กระทำตามพันธกิจ ถึงแม้ว่าเงินสำคัญแต่คนเหล่านี้มีความฝัน มีอุดมการณ์ที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง เพื่อทิ้งสิ่งมีคุณค่าไว้ให้โลกโดยตระหนักว่างานที่ทำคือหัวใจแห่งการทำให้พันธกิจบรรลุเป้าหมาย
ในเรื่องการเป็นครู คนประเภทที่หนึ่งและสอง มองว่าการเป็นครูนั้นเป็น งาน ส่วนคนประเภทที่สาม มองว่าการเป็นครูนั้นเป็นพันธกิจ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายความแตกต่างระหว่างครูสองยุค
หากถามว่าจะแยกออกอย่างไรระหว่างการสอนที่เป็นงานกับการสอนที่เป็นพันธกิจ คำตอบง่าย ๆ ก็คือถ้าสอนเพราะว่ามันไม่ไปแทรกแซงแย่งเวลากับกิจกรรมอื่นของตน นั่นคือการเป็นงาน แต่ถ้ามุ่งมั่นกับการสอนถึงแม้ว่ามันจะทำให้ต้องละทิ้งกิจกรรมอื่นนั่นคือการเป็นพันธกิจ
เรื่องเล่าสุดท้ายมีอยู่ว่า Michelangelo สุดยอดของนักสร้างจิตรกรรมและประติมากรรมระดับโลกเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน (คู่แข่งร่วมสมัยคือ Leonardo da Vinci) เห็นชายสองคนกำลังทำงานก่ออิฐอยู่
คนแรกหน้าตาบูดบึ้งดูไม่มีความสุขเลย คนที่สองหน้าตายิ้มแย้มอย่างมีความสุข เขาถามคนแรกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็ได้คำตอบอย่างเสียไม่ได้ว่ากำลังก่อกำแพง เมื่อถามคำถามเดียวกันกับคนที่สอง ก็ได้คำตอบอย่างภาคภูมิใจว่ากำลังสร้างบ้านให้พระเจ้า
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าสองคนกำลังกระทำสิ่งเดียวกันแต่มองสิ่งที่ทำอยู่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ทุ่มเทเข้าไปและผลลัพธ์ที่ออกมาของทั้งสองจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทำอย่างไรดีเราจึงจะมีครูที่เห็นว่าการสอนเป็นพันธกิจ มิใช่เป็นงานที่ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น.