“สถาบันส่งเสริมศิลปะฯ”เชิดชู“ครูศิลป์”สร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมดั้งเดิม
“สถาบันส่งเสริมศิลปะฯ”เชิดชู“ครูศิลป์”สร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมดั้งเดิม ส่องฝีมือ “ครูช่าง” ชั้นเลิศ รักษาส่งต่อภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง พร้อมเผย “ทายาท” คนรุ่นใหม่ที่พร้อมสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันดำเนินการเฟ้นหาเพชรล้ำค่าด้านงานหัตถศิลป์ไทย และเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ผู้เปี่ยมด้วยทักษะฝีมือและองค์ความรู้ และยังคงยึดมั่นรักษาภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมดั้งเดิมที่นับวันใกล้จะสูญหาย สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่น มีจิตวิญญาณในความเป็นช่างฝีมือที่พร้อมจะถ่ายทอดส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานและคนรุ่นหลัง เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้สามารถเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมอันล้ำค่า และร่วมกันสืบสานอนุรักษ์พร้อมเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต
ทั้งนี้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยได้คัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์และมีความเป็นฝีมือเชิงช่างแห่งแผ่นดิน เพื่อเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นการสืบสานและส่งต่อภูมิปัญญาเชิงช่างชั้นสูงไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าและเกิดความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการพัฒนา ต่อยอดรูปแบบและการใช้งานสู่ความร่วมสมัยอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
โดยในปี 2565 นี้ มีบุคคลเป็นได้รับการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ที่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ ทุกท่านยังคงยึดมั่นรักษาภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมดั้งเดิมที่นับวันใกล้จะสูญหาย สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นสะท้อนถึงทักษะฝีมืออันล้ำเลิศชั้นครู มีจำนวน 2 คน
สำหรับผู้ได้รับเชิดชูเป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่างชั้นเลิศทั้งในงานเชิงอนุรักษ์และพัฒนาแล้ว ยังคงมุ่งมั่นสืบสานส่งต่อภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลังไว้อย่างน่าภาคภูมิใจมีจำนวน 13 คน และผู้ที่ได้รับเชิดชูเป็น “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ที่นับเป็นบุคคลผู้ซึ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด งานหัตถศิลป์ไทยด้วยใจที่มุ่งมั่นที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์งานที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษหรือครูบาอาจารย์ ให้คงอยู่ต่อไป มีจำนวน 10 คน
นอกจากนี้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ขอนำทุกท่านได้ชมตัวอย่างฝีมือช่างชั้นเลิศจาก “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ดังนี้ นายสมคิด ด้วงเงิน อายุ 81 ปี ได้รับการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ประเภท หัตถกรรมทองลงหิน เป็น เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพงานหัตถกรรมทองลงหินมากว่า 60 ปี (เริ่มทำตั้งแต่อายุ 14ปี) ปัจจุบันเป็นเจ้าของ “ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน” และเป็นผู้อยู่ในยุคสมัยที่เชื่อมโยงการผลิตทองลงหินจากรุ่นก่อนมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน
โดยผลงานสำคัญๆ ที่มีความโดดเด่นที่สร้างความภาคภูมิใจ คือ ช้อน ส้อม ลายดอกพิกุล โดยมีการพัฒนาสร้างสรรค์ การปรับประยุกต์ หรือ ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเอกลักษณ์ พัฒนาจากมีดทานข้าว ดัดแปลงมาเป็นรูปทรงของมีดริ้วมะปราง และมีดคว้านเพื่อให้เข้ากับรูปแบบการใช้และความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันที่หันมาสนใจและใส่ใจในเรื่องของการริ้วมะปราง
นางสุมิตรา ทองเภ้า อายุ 79 ปี หรือคุณยายดำ ผู้ที่จะเข้ารับการคัดสรรเพื่อเชิดชูเป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประเภท เครื่องทอ คุณยายดำเป็นผู้ทอริเริ่มผ้ายกดอกเพื่อจำหน่ายในจังหวัดร้อยเอ็ด อาทิ ลายเทพพนม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ผ้ายกดอกลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และลายโบราณอื่นๆ ของจังหวัดร้อยเอ็ด คุณยายดำมีความตั้งใจในการอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ ให้คงอยู่ และส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง โดยการฝึกให้ลูกหลาน หัดทำผ้ายกดอกตามขั้นตอนต่างๆ จนปัจจุบันมีหลานที่สามารถทอผ้ายกดอกโบราณได้แล้ว 2 คน
นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ในชุมชน มาฝึกการทอผ้า และถ่ายทอดขั้นตอนการทำผ้ายกดอกให้แก่ลูกหลาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีผ้าสวยๆไว้ใช้ ที่สำคัญยังได้รับการยกย่องจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด อนุมัติให้ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน (ช่างทอผ้ายกดอกลายโบราณจังหวัดร้อยเอ็ด) อีกด้วย
นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ อายุ 56 ปี ผู้ที่จะเข้ารับการคัดสรรเพื่อเชิดชูเป็น “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประเภท เครื่องลงยาสีร้อน จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ ฝึกฝนในงานศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากการช่วยคุณแม่คือครูบุญมี จันอุไรรัตน์ ซึ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประจำปี 2561 ทำงานหัตถกรรมเครื่องลงยาสีร้อนมาตั้งแต่จำความได้ เริ่มเป็นกำลังหลักในการผลิตเครื่องลงยาสีแทนคุณแม่ครูบุญมี จันอุไรรัตน์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548
ปัจจุบันเป็นผู้อนุรักษ์ สืบทอด การทำงานศิลปหัตถกรรมเครื่องลงยาสีร้อนที่สั่งสม สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้ถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่นให้มีรายได้ และได้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเครื่องลงยาสีโบราณ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
สำหรับผลงานสำคัญๆ ที่มีความโดดเด่นที่สร้างความภาคภูมิใจคือ กำไลลายดอกนพเก้า และ กล่องเครื่องประดับลายดอกนพเก้า เป็นเครื่องประดับและของใช้ลงยาสีลายดอกนพเก้าชุดนี้ ใช้เทคนิคการลงยาสีร้อนตามสีนพเก้า ซึ่งจุดเด่นของเครื่องประดับและของใช้ลงยาสีนพเก้าชุดนี้ นอกจากจะมีคุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้ครอบครอง
ขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาเริ่มจากลูกค้าต้องการสั่งทำสินค้าประเภทเครื่องประดับต่างๆ เช่น เข็มกลัดเสื้อ หมุด/แหนบหนีบเนคไท พวงกุญแจลงยาสีลวดลายไทยแบบต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของไทย เพื่อนำไปให้ชาวต่างประเทศเป็นของที่ระลึก จึงได้ออกแบบทำให้ลูกค้า
จากนั้นจึงพัฒนาเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เช่น หลอดยานัตถุ์ ถ้ำยาดม ตลับสีผึ้ง กล่องบุหรี่/ซิก้า กำไล กรอบรูป เป็นต้น รวมถึงการออกแบบสินค้าประเภทของชำร่วยแบบต่างๆ ให้ทันกับยุคสมัยตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถเข้าไปศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยและดูรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sacit.or.th/th และ https://www.facebook.com/sacitofficial