แนะนำหนังสือปรัชญาที่น่าอ่าน | วิทยากร เชียงกูล

แนะนำหนังสือปรัชญาที่น่าอ่าน | วิทยากร เชียงกูล

ขอแนะนำหนังสือแนวปรัชญา - ชีวิตและสังคม ที่ผู้เขียนแปล สรุปความ อธิบายใหม่ ครอบคลุมทั้งปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ธรรมบท-ทางหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ ตลอดจนคู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง อีปิคตีตัส, ปรัชญาสโตอิก

1. อธิบายศัพท์ปรัชญาการเมืองและสังคม, สายธาร, 2547 อธิบายศัพท์เฉพาะทางด้านปรัชญาการเมืองและสังคมแบบสังเขป โดยเน้นคำที่อธิบายถึงแนวคิดทฤษฎี คติ ลัทธิ ระบบ ซึ่งในภาษาอังกฤษมักจะลงท้ายด้วย ism รวมทั้งนักคิดทฤษฎี, คำที่หมายถึงสาขาวิชา และสังคม

เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดทฤษฎีสาขาวิชาและแนวคิดรวบยอดที่สำคัญ เช่น คำว่า Absolutism, Academic Socialism, Agnosticism, ฯลฯ

2. ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม, สายธาร, 2548 พิมพ์ครั้งที่ 5, 2555 อธิบายว่าปรัชญาและปรัชญาการเมือง/สังคม คืออะไร สำคัญอย่างไร มีแนวทางศึกษาอย่างไร และสรุปปรัชญาทางการเมือง สังคม และปรัชญาเศรษฐกิจของนักคิดสำคัญของโลก ตั้งแต่ยุคโบราณ

เช่น โซโรแอสเตอร์, นักปรัชญาอินเดียยุคโบราณ, พระพุทธเจ้า, ขงจื้อ ฯลฯ จนถึงยุคสมัยใหม่เช่น จอห์น ล็อค, มองเตสกิเออ, ยังยาคส์ รุสโซ , อาดัม สมิธ, คาร์ล มาร์กซ์ ฯลฯ โดยเน้นหลักคิดประเด็นสำคัญด้านปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจสังคม ของกลุ่มสำนักคิดและนักคิดแต่ละคน

3. อยู่อย่างใจสงบ ในโลกที่ยากลำบาก-ข้อคิด/คำคม จากนักปรัชญาสำนักสโตอิก และพุทธปรัชญา, สายธาร, 2553 รวมแนวคิด/คำคม ของนักปรัชญาสำนักสโตอิก จากกรีกและโรมันยุคโบราณ ซึ่งมีแนวคิดแนวอุเบกขา (ปล่อยวาง ไม่ยึดติด) นิยม คล้ายปรัชญาพุทธ แต่อธิบายในเชิงเหตุผลทางปรัชญามากกว่าศาสนา 

แนวคิดที่สำคัญปรัชญาสโตอิกเสนอคือ การที่คนเราจะมีชีวิตอย่างสงบสุขได้นั้น เราควรรู้จักใช้ชีวิตอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติของจักรวาลที่มีเหตุผล ซึ่งก็คือการมีคุณธรรม ทำสิ่งที่ถูกต้อง และมีสติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์หรือปัจจัยภายนอก

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรที่อยู่ในอำนาจของเราที่จะกำหนดได้ เปลี่ยนได้ เราก็ทำ อะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเราที่เรากำหนดไม่ได้ เราก็ควรยอมรับมัน ไม่จำเป็นต้องไปวิตกกังวล ไม่ทุกข์ร้อน 

    ประกอบด้วยประวัติและคำคมคัดสรรทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ของนักปรัชญาสำนักสโตอิกที่สำคัญ 4 คน คือ ซีโน แห่งซิติอุม, เซเนก้า, อิปิคตีตัส, มาร์คุส ออเรลิอุส และคัดพุทธภาษิตบางส่วนของพระพุทธเจ้าที่มีแนวคิดคล้ายกันกับปรัชญาสโตอิกมาเปรียบเทียบด้วย

แนะนำหนังสือปรัชญาที่น่าอ่าน | วิทยากร เชียงกูล

4. ธรรมบท-ทางหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์, แสงดาว, 2556 งานแปลเรียบเรียงจาก ธรรมบท (Dhammapada) คติพจน์พระพุทธเจ้าฉบับคัดสรร แปลเรียบเรียงจากฉบับภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยแบบที่คนทั่วไปในยุคปัจจุบันใช้กัน ซึ่งต่างจากหนังสือที่คนอื่นแปลเล่มก่อนๆ หน้านี้ที่มักจะนิยมแปลจากภาษาบาลีแบบตรงตัวหรือเป็นแบบภาษาวัดมากไป

ธรรมบท เป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก เฉพาะส่วนที่เรียกว่าธรรมบท หรือทางเดินแห่งธรรมนี้ เป็นคำกล่าวแบบสั้นๆ ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เหมือนเป็นคติพจน์ฉบับคัดสรร สอนแนวทางการดำเนินชีวิตต่อบุคคลต่างๆ ในโอกาสต่างๆ

แบ่งหมวดหมู่ เช่น คติธรรมคู่, ความไม่ประมาท, จิต, คนโง่, คนพาล, ครฉลาด, บัณฑิต, ความชั่วร้าย, ความรุนแรง, วัยชรา, ตนเอง, โลก, ความสุข, ความรัก, ความโกรธ, มลทิน, ความโม่บริสุทธิ์ ความเที่ยงธรรม, ตัณหา ฯลฯ รวมเป็นบทร้อยกรองสั้นๆ 432 บท เป็นงานแบบบทกวีที่กระชับ สละสลวย ชัดเจน และไพเราะกินใจ เป็นธรรมภาษิตหัวข้อต่างๆ ที่คล้ายกับเป็นการสรุปใจความสำคัญของคำสอนเรื่องพุทธธรรมทั้งหมดไว้

5. ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน, แสงดาว, 2562 รวมบทความแนวคิด คำคม บทกวี เรื่องชีวิต ความสุข การพลัดพราก (ความตาย) จากสำนักคิดปรัชญาสโตอิก ของกรีกยุคโบราณ ปรัชญาพุทธ และพวกนักจิตวิทยา นักปรัชญา นักเขียน กวี จากหลายยุคสมัยและหลายภูมิภาค

ภาคแรก ปรัชญาชีวิต ประกอบด้วย แนวคิดชีวิตดีมีสุขแนวพุทธจากงานของทะไล ลามะ  และงาน 2 ชิ้นของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ชื่อ การพัฒนาความสุข 5 แบบ และการพัฒนาคนเพื่อการดำเนินชีวิตที่ดี พุทธวจนะ คัดสรรส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตอยู่ดีมีสุข

ปรัชญาพุทธเสนอหลักง่ายๆว่าชีวิตที่ดี ที่จะช่วยลดหรือปลดเปลื้องความรูสึกทุกข์ของคนเราได้ คือการลดละความโลภ โกรธ หลง เข้าใจว่าทุกสิ่งคือทุกข์ ทุกสิ่งค่อยๆเสื่อมสลาย และไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้เราจับยึดได้จริง 

อยู่ดีมีสุขตามปรัชญาสโตอิก การเข้าใจและฝึกฝนการรู้จักหารวางเฉยหรืออุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบเรามากเกินไป และใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ 

แนวทางสร้างความสุขในทัศนะของนักจิตวิทยา มองว่าเป็นเรื่องการรู้จักพอใจในสิ่งที่มีอยู่และพอหาได้ ต่างไปจากการหาความสำราญจากความมั่งคั่ง การบริโภค ตำแหน่ง อำนาจ ชื่อเสียง อย่างที่คนส่วนใหญ่ในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันเชื่ออย่างผิดๆ กันอยู่ 

แนะนำหนังสือปรัชญาที่น่าอ่าน | วิทยากร เชียงกูล

ภาคที่ 2 แง่คิดและคำปลอบโยนเรื่องความตาย การเข้าใจ,ยอมรับ,มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แม้จะเกิดความตายของคนใกล้ชิด หรือแม้จะกังวล กลัว ความตายของตนเองในอนาคต นี่คือเรื่องจริงส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเผชิญ ที่เราควรจะหาอ่าน ตีความ และนำไปคิด ไปฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง 

    6. คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง อีปิคตีตัส, ปรัชญาสโตอิก, มูลนิธิเพื่อนหนังสือ, 2564 แปลจากหนังสือ Enchiridion ของอีปิคตีตัส (ค.ศ. 55-135) ครูสอนปรัชญาสำนักสโตอิก เน้นให้คนรู้จักวางอุเบกขา-การทำใจสงบต่อเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกที่ตัวเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราควบคุมจิตใจของเราเองได้ว่า จะรับสถานการณ์นั้นอย่างไร 

    มนุษย์ทุกคนควรมุ่งแวงหาชีวิตที่ดีงาม ที่หมายถึงความสงบสุข เสรีภาพ การรู้จักควบคุมจิตใจ ความประพฤติและวิถีชีวิตของตนเอง และการเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณธรรมในสังคมอีปิคตีตัส

แนะนำหนังสือปรัชญาที่น่าอ่าน | วิทยากร เชียงกูล

    7. ทำไมควรอ่าน คาร์ล มาร์กซ์, แสงดาว, 2559 อธิบายปรัชญามาร์กซิสม์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์แบบสรุปใจความสำคัญ และบทความแปลสั้นๆ ที่สำคัญของมาร์กซ์ เรื่อง บทวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมือง, แรงงานรับจ้างและทุน

    8. ศาสดาอนาธิปไตย ปีเตอร์ โครพอตกิ้น, แสงดาว, 2566 อธิบายปรัชญาการเมืองของสำนักคิด Anarchism (อนาธิปไตย - ประชาชนจัดการตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ) ประวัติและแนวคิดสำคัญของปีเตอร์ โครพอตกิ้น นักทฤษฎีและนักปฏิวัติคนสำคัญของสำนักคิดอนาคิสต์ ผู้มีพื้นฐานเป็นนักวิทยาศาสตร์และเขียนอย่างมีหลักฐาน มีเหตุผลสนับสนุนรองรับ.