อีริค ฟรอมม์ นักจิตวิทยาแนวสังคมนิยมมนุษยนิยม
อีริค ฟรอมม์ (Eric Fromm) นักจิตวิทยาสังคมผู้เขียนเรื่อง ศิลปะแห่งการรัก และเรื่องอื่นๆ เป็นชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว เกิดปี 1900
ช่วงฟรอมม์อายุ 12-14 ปี เขาได้รับความสะเทือนใจและคิดมาก 2 เรื่องคือ เรื่องการฆ่าตัวตายของเพื่อนบ้านสาวจิตรกรที่อายุมากกว่าคนหนึ่ง และต่อมาคือการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
ซึ่งในเยอรมันมีการปลุกลัทธิชาตินิยม และการแสดงความเกลียดชังต่อชนชาติศัตรูอย่างรุนแรง ทำให้ต่อมาฟรอมม์พัฒนาเป็นนักคิดแนวมนุษยนิยมและผู้นิยมสันติภาพ
อีริค ฟรอมม์ รักการอ่าน การเรียนรู้ ในช่วงวัยรุ่นเขาได้เรียนรู้จากนักปราชญ์ศาสนายิวหลายคน บางคนเป็นนักมนุษยนิยมและพวกหัวก้าวหน้าแนวสังคมนิยม
เขาเรียนจบปริญญาเอกทางสังคมวิทยา ไปเรียนที่สถาบันจิตวิเคราะห์และพัฒนาตัวเองไปเป็นนักจิตวิเคราะห์และผู้สอนเรื่องจิตวิเคราะห์ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (ค.ศ. 1896-1939) นักจิตวิเคราะห์ ผู้บุกเบิกในยุคนั้น
และได้ปลุกพลังแห่งอิสรภาพอันแรงกล้าขึ้นในตัวฟรอมม์ เขาอ่านและชื่นชมคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) โดยเฉพาะงานของมาร์กซ์ช่วงหนุ่มมาก ฟรอมม์สนับสนุนสังคมนิยมมาโดยตลอด และมองว่ามาร์กซ์วิเคราะห์สังคมได้ลึกกว่าฟรอยด์
งานเขียนของเกออร์ก กริมม์ (Georg Grimm) เกี่ยวกับศาสนาพุทธช่วยเขาสละความเชื่อในพระเจ้าส่วนบุคคลและหันไปหาศาสนาพุทธนิกายเซ็น กับการวิจารณ์ศาสนาโดยทั่วไป
ฟรอมม์ร่วมกับฟรีดา ไรช์มันน์ ภรรยา นักจิตวิเคราะห์ เปิดสถานจิตบำบัดเล็กๆ ขึ้นที่เมืองไฮเดิลแบร์ก ระหว่างปี 1924-1928 และหลังจากนั้นที่เบอร์ลิน ในปี 1930 เขาทำงานที่สถาบันวิจัยสังคมกับพวกนักวิชาการสำนักวิพากษ์ (Critical Theory) หรือสำนักแฟรงเฟริต (Frankfert) ด้วย
นักทฤษฎีกลุ่มนี้วิเคราะห์แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ เสนอว่าการวิเคราะห์แบบดั้งเดิมว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความคิด จิตสำนึก และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเป็นการตีความแบบเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดด้านเดียว
ความจริงแล้วเรื่องความคิด อุดมการณ์ จิตสำนึก วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมสูง พวกเขานำแนวคิดของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้กับคติมาร์กซิสม์ด้วย
หลังจากฟรอมม์ป่วยเป็นวัณโรคในปี 1931 เขาไปอยู่สถานพักฟื้นของสวิส เมืองดาวอส และต่อมาแยกทางกับฟรีดา เมื่ออาการดีขึ้น เขาอพยพไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่กลับไปอยู่ที่เยอรมันภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์และพวกนาซี
สมาชิกสถาบันวิจัยสังคมที่แฟรงค์เฟริตย้ายไปอยู่นิวยอร์คด้วย แต่ฟรอมม์ขัดแย้งทางความคิดกับนักวิชาการคนอื่นๆ ในสถาบัน เพราะฟรอยด์ว่ามองปัญหาความขัดแย้งทางความคิดจิตใจว่ามาจากปัจจัยทางธรรมชาติ โดยละเลยการมองปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม ต่อมาฟรอมม์จึงลาออกจากสถาบันวิจัยสังคม
หนังสือของฟรอมม์เรื่อง หนีจากเสรีภาพ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่พิมพ์ออกมาในปี 1941 ทำให้ฟรอมม์เป็นนักเขียน นักวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น วิจารณ์ว่าการที่คนเยอรมันนิยมรัฐบาลนาซีของฮิตเลอร์ และประชาชนมักเชื่อรัฐบาลเผด็จการ
เพราะคนถูกครอบงำทาง (จิตวิทยา) สังคมให้อยากเชื่อฟัง ทำอะไรเหมือนๆ กัน มากกว่าที่จะคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง เขาเป็นทั้งนักเขียนและนักพูดที่มีชื่อและเป็นที่นิยม ทำงานทั้งเป็นนักจิตบำบัดในนิวยอร์ก เป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย
ในปี 1941 ฟรอมม์แต่งงานกับเฮ็นนี เกอร์แลนด์ (Henny Gurland) ช่างภาพหนังสือพิมพ์ผู้หนีภัยจากนาซีมาที่สหรัฐฯ ฟรอมม์ย้ายครอบครัวไปอยู่เม็กซิโกในปี 1950 ด้วยเชื่อว่าสภาพอากาศที่นั่นจะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบของภรรยา
ที่เม็กซิโก ฟรอมม์ได้เริ่มฝึกแพทย์กลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นนักจิตวิเคราะห์และทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยเม็กซิโก
ความตายของเฮ็นนี ในปี 1952 บังคับให้เขาต้องยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง หรือความล้มเหลวของเขาเอง แต่เขาเลือกที่จะเป็นคนรักในชีวิตและใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ ทั้งเพื่อตัวเองและคนอื่นๆ
เขาสนับสนุนสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวมนุษยนิยม แม้จะเขาสนับสนุนในทางความคิด ผ่านหนังสือ บทความ คำบรรยาย มากกว่าการเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับองค์กรหนึ่งองค์กรใด
ต่อมาฟรอมม์มีความสัมพันธ์กับแอนนิส ฟรีแมน (Annis Freeman) หญิงอเมริกัน แม่หม้ายจากการสามีเสียชีวิต แอนนิสเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์มาก มีอารมณ์สุนทรีย์ ไม่มีความทะเยอทะยานในอาชีพการงาน แต่เป็นคู่คิดที่ดี เธอมีภูมิหลังทางสังคมคล้ายเขา เป็นคนที่ฟรอมม์คุยแลกเปลี่ยนด้วยได้ดี เธอย้ายไปอยู่กับเขาที่เม็กซิโกระหว่างปี 1956 ถึง 1973
ฟรอมม์เดินทางไปบรรยายที่สหรัฐฯ เป็นช่วงๆ และเขาเข้าร่วมการรณรงค์ทางการเมืองของสหรัฐฯ เช่น รณรงค์เพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์และขบวนการสันติภาพ ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ส่งทหารอเมริกันไปทำสงครามเวียดนาม
การเกิดขบวนการของปัญญาชนคนหนุ่มสาว ทั้งในเรื่องสิทธิพลเมือง การต่อต้านสงคราม สิทธิความเสมอภาคของผู้หญิงในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าในตะวันตกในยุคนั้นรวมทั้งฟรอมม์มีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ ช่วงนี้เขาเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม
ปี 1974 ฟรอมม์และภรรยาย้ายจากเม็กซิโกไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ในวัย 60-80 ปี เขาเขียนและพิมพ์หนังสือหลายเล่ม และเปิดคลินิกจิตวิเคราะห์ของเขาเองอย่างต่อเนื่อง ฟรอมม์มีชีวิตคู่มีความสุขกับภรรยาคนหลังสุด 27 ปี เขาเสียชีวิตในปี 1980 ด้วยวัย 80 ปี
ฟรอมม์มีผลงานหนังสือราว 40 เล่ม และบทความจำนวนมาก เป็นงานเชิงจิตวิทยาสังคมและการวิเคราะห์สังคม การเมือง ในแนวสหวิทยาการเชิงวิพากษ์
นักวิชาการรุ่นหลังมองว่าฟรอมม์เป็นนักจิตวิทยาสังคมและนักสังคมศาสตร์แบบสหวิทยาการมากกว่านักจิตวิเคราะห์ เขาวิจารณ์ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั้งในประเทศทุนนิยมตะวันตกและในโซเวียตรุสเซีย
และเสนอให้สร้างสังคมนิยมแนวมนุษยนิยมที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางสังคมและเสรีภาพของบุคคลควบคู่กันไป เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวราบ ที่ให้ประชาชนจัดการตนเองในรูปแบบสหกรณ์ ชุมชน และองค์กรประชาชนรูปแบบต่างๆ
เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากการถูกกดขี่ครอบงำให้หลงเชื่อบูชารูปปั้นบูชาแบบผิดๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางความคิดจิตใจ.